กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
“ประทีปแห่งเจ้าพระยา” ละครริมแม่น้ำเจ้าพระยา มหานทีแห่งการค้า มหาราชแห่งสยาม นาฏกรรมริมสายน้ำเจ้าพระยา เล่าขานความเป็นมาของท่าเอเชียทีค ในงาน River Festival 2014 สายน้ำแห่งวัฒนธรรม จัดแสดงในช่วงเทศกาลลอยกระทงระหว่างวันที่ 1-6 พฤศจิกายน 2557 เวลา 20.30-21.30 น. ณ เอเชียทีค เดอะรีเวอร์ฟร้อนท์ประเทศไทยเรามีประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมและประเพณีอันเป็นมรดกตกทอดมาอย่างยาวนานจากรุ่น...สู่รุ่น ที่เล่าขานเรื่องราว วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และจิตวิญญาณของความเป็นไทยที่หลากหลายแต่มีรากเหง้าเดียวกัน ประดุลสายน้ำน้อยใหญ่ที่มาหลอมรวมเป็นสายน้ำแห่งวัฒนธรรม สะท้อนเอกลักษณ์อันงดงามของชนชาติไทย บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นถึงความสำคัญวัฒนธรรมไทยจึงจัดงาน River Festival 2014 สายน้ำแห่งวัฒนธรรม โดยเนรมิตสถานที่สำคัญต่างๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็นฉากเล่าเรื่องราวความเป็นมา วิถีชีวิตของชุมชนดั้งเดิม และกิจกรรมการแสดงหลากหลาย โดยมีการแสดงละคร“ประทีปแห่งเจ้าพระยา”บทและกำกับการแสดงโดย ผศ.พรรณศักดิ์ สุขี ผู้อำนวยการศิลป์ คณะละครมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้แสดงเป็นนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพกว่า 60 คนรวมทีมงานทั้งหมดกว่า 100 ชีวิตที่ร่วมแสดงในครั้งนี้ถือเป็นการแสดงชุดใหญ่ของเทศกาลงานลอยกระทงนี้ จะจัดแสดงขึ้นทุกวันระหว่างวันที่ 1-6 พฤศจิกายน 2557 เวลา 20.30-21.30 น. ณ เวทีใหญ่ เอเชียทีค เดอะรีเวอร์ฟร้อนท์
แก่นความคิดของเรื่อง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินวิเทโศบายเจริญสัมพันธไมตรีด้านการค้ากับต่างประเทศท่ามกลางกระแสจักรวรรดินิยม เราจึงยังมีเอกราชให้ชื่นชมตราบเท่าทุกวันนี้
เรื่องย่อ
สยาม พ.ศ. 2422
1. เรือล่องผ่านน่านน้ำสยาม เหล่าพ่อค้าชาวต่างชาติและช่างต่อเรือบนเรือร้องเพลงถึงการเดินทางจากทะเลแสนไกลสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ความหวังในโอกาสทางการค้าและการเผยแพร่อารยธรรม
2. เหล่าพ่อค้าชาวต่างชาติเห็นวิถีชีวิตริมน้ำของชาวสยาม ได้ฟังท่วงทำนองแห่งสายน้ำที่บอกถึงความร่มเย็นเป็นสุข
3. ฮันส์ นิลล์ แอนเดอร์เซ็น (Hans Niels Andersen) ช่างต่อเรือหนุ่มวัย 27 ปีชาวเดนมาร์ก ตั้งคำถามกับตนเองว่าเหตุใดสยามจึงยังคงรักษาเอกราชและวิถีชีวิตที่สงบงามเช่นนี้ไว้ได้
4. เรือเข้าเทียบท่า ผู้ที่รอรับคือนายริชเชอลิเยอร์ (Andreas de Richelieu) ชาวเดนมาร์กผู้อาศัยอยู่ในแผ่นดินสยามด้วยภารกิจเชื่อมความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ฮันส์ ยังไม่ทันได้ถามริชเชอลิเยอร์ถึงคำถามสำคัญที่ตนสงสัย ขบวนของกรมท่า (เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี เสนาบดีกรมพระคลังและกรมท่า) ก็ได้เดินทางมาถึง และจัดการแสดงต้อนรับชาวต่างชาติที่แสดงถึงศิลปวัฒนธรรม (ระบำดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ซึ่งมีมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 4)
5. กรมท่าและฮันส์ ถูกชะตากันและกัน แม้จะต่างวัย บทร้องคู่ของทั้งสองทำให้เราได้ทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงหนุ่มแน่นเปี่ยมด้วยพลังและวิสัยทัศน์ที่จะนำประเทศให้ทัดเทียมตะวันตก รอดพ้นจากการล่าอาณานิคม แม้จะยากลำบากสักเพียงใด และพรุ่งนี้จะเป็นวันสำคัญ เพราะกรมท่าจะนำฮันส์เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะฮันส์จะเป็นนายช่างผู้ต่อเรือในพระองค์
6. ฮันส์ร้องเพลงเล่าถึงเช้าวันสำคัญ รุ่งอรุณแห่งสยาม ฮันส์เตรียมตัวเข้าเฝ้าฯ เขาแต่งกายด้วยชุดสากลที่ดีที่สุด
7. กรมท่าพาเขาขึ้นรถม้าเลียบถนนเจริญกรุงเพื่อเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ตลอดทางเขาได้เห็นวิถีชีวิตผู้คนบนถนนเจริญกรุงที่ต่างปิติยินดีเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2
8. และเมื่อเข้าเขตพระบรมมหาราชวัง เขาได้เห็นความวิจิตร ชีวิตในวังหลวง การเตรียมงานพระราชพิธี ท้องพระโรงที่มีขุนนางข้าราชบริพาร เขารู้สึกตื่นเต้น เช่นเดียวกับข้าราชบริพารทุกคน ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยกเลิกการหมอบคลานในการเข้าเฝ้าในปีนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก เสียงแตรสังข์ประโคม เขารู้สึกราวโลกหยุดหมุน เขาได้เห็นกษัตริย์ผู้ทรงบารมีปรากฏอยู่ตรงหน้า งามดั่งประทีปส่องฉาย เขาคุกเข่าถวายคำนับขณะที่ทุกคนหมอบกราบถวายพระพรทรงพระเจริญ
9. ฮันส์ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดูแลเรือชื่อ Thoon Kramon เขาผ่านประสบการณ์ที่ได้เห็นสยามเปลี่ยนแปลงไปแต่ไม่เคยสูญเสียความเป็นตัวตน ด้วยพระบรมราโชบายด้านการต่างประเทศและการค้า ทำให้สยามพัฒนารุดหน้า อีกทั้งทรัพยากรที่มีค่าเช่นไม้สักในการต่อเรือ ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาติให้เขาสร้างท่าเรือขนถ่ายสินค้า ณ ท่ามหานทีแห่งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของประตูแห่งการค้าอันยิ่งใหญ่ระหว่างสยามกับยุโรป
10. ความเจริญทางการค้า ห้างร้านฝรั่ง จีน แขก การผสมผสานทางวัฒนธรรมอย่างกลมกลืน (ละครดึกดำบรรพ์ ละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้า เพื่อแสดงถึงวิวัฒนาการทางนาฏศิลป์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 5)
11. พ.ศ. 2440 ฮันส์ลากรมท่าเพื่อจะกลับกรุงโคเปนฮาเก้นเพื่อประกอบธุรกิจ เขาบอกว่าจะไม่ลืมแผ่นดินสยาม ไม่ลืมพระเจ้าแผ่นดินที่ร่วมทุกข์สุขกับประชาชนในการรักษาอธิปไตยไว้ให้มั่นคง แม้จะผ่านวิกฤตสำคัญที่ทรงโทมนัส เช่น พ.ศ. 2436 (รศ. 112) เขาจะกลับมาที่ท่าแห่งนี้อีกแน่นอน แม้จะเป็นคนต่างชาติต่างภาษา แต่เขารักในจิตวิญญาณแห่งสยาม กรมท่ากล่าวว่าวันพรุ่งนี้แล้วที่เขาจะเข้าเฝ้าเพื่อถวายบังคมลา
12. ฮันส์เดินออกมาที่ท่าซึ่งเขาสร้างขึ้น มองสายน้ำเจ้าพระยา ตระหนักว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคือ “ประทีปแห่งเจ้าพระยา” ที่ส่องทางให้เขามา และส่องทางให้สยามสู่ความเป็นชาติอารยะเหนือชาติใด และไม่มีวันที่ใครจะเข้าครอบครองได้
13. ท่าเรือ พ่อค้าต่างชาติ กรมท่า และชาวสยามมาส่งฮันส์และเรือ “ทูลกระหม่อม” เขาสัญญาจะกลับมาในเร็ววัน เรือแล่นห่างออกไป เสียงฮันส์เขียนจดหมายถึงกรมท่าว่าเขาได้เปิดบริษัท อิสต์ เอเชียติค และใคร่กราบทูลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยือนยุโรป เสียงกรมท่าอ่านพระบรมราชโองการในปี พ.ศ. 2441 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฮันส์ นิลล์ แอนเดอร์เซ็น เป็นกงสุลสยามประจำราชอาณาจักรเดนมาร์ก และทรงมีดำริที่จะเสด็จเยือนยุโรปเพื่อกระชับสัมพันธไมตรี ทุกคนร้องเพลงประทีปแห่งเจ้าพระยากึกก้องไพเราะจับใจ พลุงดงามสว่างไสวทั่วท้องน้ำ
บทและกำกับการแสดง พรรณศักดิ์ สุขี
ประพันธ์ดนตรี กฤษดา นพีสี เรเยส
ออกแบบเครื่องแต่งกาย อุบลวรรณ มูลกัณฑา
ออกแบบลีลา ปริญญา ต้องโพนทอง
ควบคุมลำดับการแสดง กิตติ ศรีสัญญา
จัดการโครงการ สุเมธ ป้อมป้องภัย
อำนวยการแสดง นวฤทธิ์ ฤทธิโยธี
ดำเนินงานสร้าง BU Theatre Company