กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) เรื่อง สำรวจความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอย กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 626 ชุมชน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 - 27 ตุลาคม 2557
ผลสำรวจการติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน พบว่า แกนนำชุมชนที่ถูกศึกษาร้อยละ 11.0 ระบุติดตามอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 40.6 ระบุติดตามบ้าง ร้อยละ 34.5 ระบุไม่ค่อยได้ติดตาม และร้อยละ 13.9 ระบุไม่ได้ติดตามเลย เช่นเดียวกับการติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยนั้นพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 10.3 ระบุติดตามอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 41.8 ระบุติดตามบ้าง ร้อยละ 34.1 ระบุไม่ค่อยได้ติดตาม และร้อยละ 13.8 ระบุไม่ได้ติดตามเลย ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบการรับรู้ข้อมูลข่าวสารระหว่างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กับโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยนั้นพบว่า ร้อยละ 35.7 รับรู้ข้อมูลข่าวสารของโรงไฟฟ้าถ่านหินมากกว่า ในขณะที่ร้อยละ 64.3 ระบุรับรู้ข้อมูลข่าวสารของโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยมากกว่า
ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาคือเมื่อสอบถามความคิดเห็นกรณีประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการสร้างโรงไฟฟ้านั้น แกนนำชุมชนร้อยละ 36.3 ระบุคิดว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์จากโรงไฟฟ้าถ่านหินมากกว่า ในขณะที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.7 ระบุคิดว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์จากโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยมากกว่า
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบความถึงสิ่งที่รู้สึกวิตกกังวล ต่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นพบว่า ร้อยละ 46.1 รู้สึกกังวลในเรื่องมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 31.2 ระบุการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 10.9 ระบุกลัวการรั่วไหลของสารเคมี ร้อยละ 10.8 กังวลเรื่องผลกระทบที่จะมีต่อชุมชน/อันตรายกับชาวบ้าน นอกจากนี้แกนนำชุมชนยังวิตกกังวลในเรื่อง ระบบของโรงงาน เกรงว่าจะมีวัตถุดิบไม่เพียงพอ เกรงว่าจะส่งกลิ่นเหม็น ฝุ่นละออง ที่ตั้งโรงงาน เป็นต้น
สำหรับความกังวลต่อโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยนั้น แกนนำชุมชนร้อยละ 42.7 กังวลเรื่องมลพิษทางอากาศ ร้อยละ 28.6 ระบุการทำลายสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 15.0 ระบุการส่งกลิ่นเหม็นรบกวน นอกจากนี้ยังกังวลในเรื่องการคัดแยกขยะ เชื้อโรค/สิ่งสกปรก ที่ตั้งของโรงงาน ผลกระทบต่อชุมชน ควัน สารพิษ เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเปรียบเทียบความวิตกกังวลระหว่างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กับโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอย นั้นพบว่าตัวอย่างประมาณ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 65.2 ระบุรู้สึกกังวลต่อโรงไฟฟ้าถ่านหินมากกว่า ในขณะที่ประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 34.8 ระบุกังวลโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยมากกว่า
ประเด็นสำคัญสุดท้ายคือ เมื่อสอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนกรณีหากจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยในจังหวัดที่ตนเองพักอาศัยอยู่ ซึ่งในกรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น พบว่า แกนนำชุมชน ร้อยละ 39.5 ระบุเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 60.5 ระบุไม่เห็นด้วย สำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยนั้น พบว่า ตัวอย่างเกือบครึ่งหรือร้อยละ 49.9 ระบุเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 50.1 ระบุไม่เห็นด้วย ตามลำดับ
โปรดพิจารณารายละเอียดดังต่อไปนี้
ตารางที่1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างแกนนำชุมชนที่ระบุความสนใจติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอย
ลำดับที่ ความสนใจติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรงไฟฟ้า โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าขยะมูลฝอย
ค่าร้อยละ ค่าร้อยละ
1 ติดตามต่อเนื่อง 11.0 10.3
2 ติดตามบ้าง 40.6 41.8
3 ไม่ค่อยได้ติดตาม 34.5 34.1
4 ไมได้ติดตามเลย 13.9 13.8
รวมทั้งสิ้น 100.0 100.0
ตารางที่2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างแกนนำชุมชนที่ระบุการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอย
ลำดับที่ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอย ค่าร้อยละ
1 รับรู้ข้อมูลข่าวสารโรงไฟฟ้าถ่านหินมากกว่า 35.7
2 รับรู้ข้อมูลข่าวสารโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยมากกว่า 64.3
รวมทั้งสิ้น 100.0
ตารางที่3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างแกนนำชุมชนที่ระบุประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอย
ลำดับที่ ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ค่าร้อยละ
1 คิดว่าจะได้รับประโยชน์จากโรงไฟฟ้าถ่านหินมากกว่า 36.3
2 คิดว่าจะได้รับประโยชน์จากโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยมากกว่า 63.7
รวมทั้งสิ้น 100.0
ตารางที่4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างแกนนำชุมชนที่ระบุสิ่งที่รู้สึกวิตกกังวลในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่ สิ่งที่รู้สึกวิตกกังวลในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ค่าร้อยละ
1 มลพิษต่อสิ่งแวดล้อม/มลภาวะ 46.1
2 ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 31.2
3 กลัวการรั่วไหลของสารเคมี 10.9
4 เกรงผลกระทบที่จะมีต่อชุมชน /อันตรายกับชาวบ้าน 10.8
5 กังวลเรื่องระบบของโรงงาน 5.1
6 เกรงว่าจะไม่มีวัตถุดิบเพียงพอ 3.4
7 อื่นๆ อาทิ ส่งกลิ่นเหม็น ฝุ่นละออง ที่ตั้งโรงงานไฟฟ้า 7.3
ตารางที่5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างแกนนำชุมชนที่ระบุสิ่งที่รู้สึกวิตกกังวลในการสร้างโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอย (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่ สิ่งที่รู้สึกวิตกกังวลในการสร้างโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอย ค่าร้อยละ
1 มลพิษทางอากาศ 42.7
2 ทำลายสิ่งแวดล้อม 28.6
3 ส่งกลิ่นเหม็น 15.0
4 การคัดแยกขยะ 5.7
5 เชื้อโรค /สิ่งสกปรก 4.4
6 ที่ตั้งของโรงงาน 4.0
7 ผลกระทบต่อชุมชน 4.0
8 อื่นๆ กลัวว่าจะทำไม่จริงจัง ควัน สารพิษ สารเคมี ทำลายสิ่งแวดล้อม 6.3
ตารางที่6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างแกนนำชุมชนที่ระบุความรู้สึกวิตกกังวลในการสร้างโรงไฟฟ้า เปรียบเทียบโรงไฟฟ้าถ่านหิน กับโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอย
ลำดับที่ ความรู้สึกวิตกกังวล ค่าร้อยละ
1 กังวลโรงไฟฟ้าถ่านหินมากกว่า 65.2
2 กังวลโรงไฟฟ้า ขยะมูลฝอยมากกว่า 34.8
รวมทั้งสิ้น 100.0
ตารางที่7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างแกนนำชุมชนที่ระบุคิดเห็นกรณีหากจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าขยะถ่านหินและโรงไฟฟ้า ขยะมูลฝอยในจังหวัดที่ตนเองพักอาศัย
ลำดับที่ ความคิดเห็นหากจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยในจังหวัดที่ตนเองพักอาศัย โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าขยะมูลฝอย
ค่าร้อยละ ค่าร้อยละ
1 เห็นด้วย 39.5 49.9
2 ไม่เห็นด้วย 60.5 50.1
รวมทั้งสิ้น 100.0 100.0
ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชนโทรศัพท์ 02-540-1298