กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร
เร่งเครื่องโรดแมปยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรรายพืชเศรษฐกิจ สศก. เผยที่ประชุมคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มพร้อมแล้ว ชูมาตรการและแนวทางทั้ง 4 ระยะ สู่อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันให้ยั่งยืน เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหาร พลังงานที่สะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม (Roadmap) ถึงผลการดำเนินงานจัดทำยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มว่า ขณะนี้ร่างยุทธศาสตร์ฉบับสุดท้าย ได้ผลสรุปแล้ว ก่อนเสนอคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า (Roadmap) พิจารณา โดยในคราวประชุมคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร เมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติให้ปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ โดยขยายระยะเวลาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสิ้นสุดระยะเวลายุทธศาสตร์ ปี 2569 และให้คำนึงถึงประเด็นที่สำคัญ 5 เรื่อง ดังนี้
1) การกำหนดเป้าหมายด้านการผลิต การตลาด ต้องชัดเจน และสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน
2) Zoning ต้องระบุพื้นที่เกษตรที่เหมาะสมให้ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมปลูกในพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่ป่า หรือเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ
3) งานวิจัยและพัฒนาให้เน้นการเพิ่มมูลค่าและความต้องการของตลาด
4) การเชื่อมโยงประเด็นการเปิด AEC ซึ่งมีผลต่อการเคลื่อนย้ายของวัตถุดิบเกษตรหรือการลงทุน และ
5) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในประเด็น GMOsของพืชที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดทิศทางภาคการเกษตรของประเทศ
ในการนี้ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2557 คณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ที่ประชุมได้พิจารณาร่างยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันฯ โดยมีสาระสำคัญ คือ วิสัยทัศน์ อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันมีความยั่งยืน เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงานที่สะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมวางเป้าหมาย เพื่อเพิ่มผลผลิตเพื่อสนองความต้องการภายในประเทศ อุปโภคบริโภค พลังงานทดแทน และการส่งออก ซึ่งในส่วนของมาตรการและแนวทางการดำเนินงาน ตาม Roadmap 4 ระยะ ดังนี้ ระยะเร่งด่วน มุ่งเน้นการบริหารจัดการสต็อกเพื่อรักษาระดับราคา ระยะสั้น(1-3 ปี) การเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพเพื่อสนองความต้องการพลังงานทดแทน และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ด้านข้อมูลสารสนเทศ การจัดการตามกลไกตลาด และพรบ.ปาล์มน้ำมัน ระยะปานกลาง (3-5 ปี) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม และจัดทำระบบโลจิสติกส์ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่ม และ ระยะยาว (5-12 ปี) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม โดยร่างยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว สศก. ได้ปรับรายละเอียดตามความเห็นของคณะทำงาน เพื่อเสนอคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งมีพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นประธาน สำหรับพิจารณาอีกครั้งในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งต่อไป
ทั้งนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า (Roadmap) คือ ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย โดยมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นประธาน ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเลขานุการ และรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ และ คณะอนุกรรมการ ฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ (Roadmap) 4 สินค้า ซึ่งในส่วนของคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม (Roadmap) มีเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นประธาน