กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
สภาวิชาชีพบัญชี เผยทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ทั้งด้านมาตรฐานและจรรยาบรรณ รวมทั้งการออกกฎเกณฑ์และกำกับดูแลคุณภาพกันเอง หลังประกาศพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ.2547 ในราชกิจจานุเบกษา
ศาสตราจารย์เกษรี ณรงค์เดช นายกสภาวิชาชีพบัญชี เปิดเผยถึงความสำคัญของ พระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 ซึ่งได้มีการประกาศใช้แทนพ.ร.บ.ฉบับเดิมว่า เนื้อหาของพ.ร.บ. ได้มีการขยายความให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีหลัก 6 ด้าน คือ การทำบัญชี การสอบบัญชี การบัญชีบริหาร การวางระบบบัญชี การบัญชีภาษีอากร การศึกษาและเทคโนโลยีการบัญชี
นอกจากนี้ ตามพ.ร.บ.วิชาชีพบัญชีใหม่ ได้มีการจัดตั้งสภาวิชาชีพบัญชีเพื่อเป็นศูนย์รวมของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี และได้มีการโอนอำนาจการกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีจากคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสอบบัญชี หรือ ก.บช. ซึ่งเป็นหน่วยงานของภาครัฐ ไปยังสภาวิชาชีพบัญชี ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพที่เน้นให้มีการกำกับดูแลกันเอง
“สภาวิชาชีพบัญชี จะทำหน้าที่กำหนดมาตรฐาน จรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี รวมทั้ง ออก กฏเกณฑ์และมีการกำกับดูแลคุณภาพกันเอง ซึ่งจะทำให้สภาวิชาชีพบัญชีเป็นองค์กรวิชาชีพองค์กรเดียว ที่จะสร้างเอกภาพ และคุณภาพ ด้านมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพบัญชี
ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับดูแลวิชาชีพบัญชี จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลสภาวิชาชีพบัญชีอีกชั้นหนึ่ง และในกรณีที่มีการพิจารณาลงโทษผู้ประกอบวิชาชีพ ก็มีคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณที่เป็นอิสระจากคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชี เป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าว” นายกสภาวิชาชีพบัญชีกล่าว
ส่วน ก.บช. จะเปลี่ยนหน้าที่ไปเป็นคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีแทน และทำหน้าที่ดูแลงานระดับนโยบายที่สำคัญและมีผลกระทบต่อสาธารณชน และพิจารณาคำอุทธรณ์กรณีมีการร้องเรียน ไม่ได้รับความเป็นธรรม พร้อมทั้ง ให้ความเห็นชอบข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชีที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกภาพของสภาวิชาชีพ และมาตรฐานการบัญชี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่พร้อมจะสนับสนุนให้ภาคเอกชนที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ ทำหน้าที่กำกับดูแลตนเอง เพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ของรัฐ
นอกจากนี้ การประกาศใช้ พ.ร.บ.วิชาชีพบัญชี พ.ศ.2547 จะทำให้ผู้ทำบัญชีที่ขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ. ผู้ทำบัญชีอยู่จำนวนประมาณ 61,000 ราย และผู้สอบบัญชีรับอนุญาตอีกกว่า 7,700 ราย ต้องไปขึ้นทะเบียนหรือเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพบัญชีภายในปีพ.ศ. 2548 โดยต้องยื่นคำขอขึ้นทะเบียนภายในเดือนมีนาคม 2548 นี้
และต่อไปผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชีจะต้องได้รับใบอนุญาตจากสภาวิชาชีพบัญชีด้วยส่วนสาขาอื่นๆ ในอนาคตก็ต้องขอขึ้นทะเบียน หรือเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีด้วยเช่นกัน--จบ--