กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--BRAINASIA COMMUNICATION
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยคณะกรรมการสวัสดิการ (วสท.) สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมอาคารชุดไทย และสภาวิศวกร เปิดเวทีเสวนา เรื่อง ”ใบอนุญาตก่อสร้าง...เพื่อการพัฒนาปฎิรูปประเทศ” เผยอุปสรรคปัญหาจากขั้นตอนซับซ้อน เอกสารมากมายและต้องผ่านหลายหน่วยงาน ส่งผลเสียหายแก่การพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ โครงการสาธารณูปโภค อาคาร และโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ผลพวงจากความล่าช้าในการขอใบอนุญาตก่อสร้างและเปิดช่องการตีความ ทำให้นักลงทุนในประเทศและต่างชาติพบกับปัญหา กลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและเป็นภาระของผู้ซื้อและประชาชนเจ้าของประเทศในที่สุด ทั้ง 8 สมาคมวิชาชีพจัดทำ7 ข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในการพิจารณาเร่งแก้ไขเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยในการขอใบอนุญาตก่อสร้าง เพื่อนำไปสู่ความมีประสิทธิภาพ ธรรมาภิบาลและฟื้นความเชื่อมั่นการเป็นศูนย์กลางของอาเซียนที่แข็งแกร่งอย่างแท้จริง
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (Suchatvee Suwansawat) นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ประธานเปิดงานเสวนา เผยว่า “อุตสาหกรรมก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ มีมูลค่ากว่า 6 แสนล้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างที่อยู่อาศัย ถนน สะพาน อาคาร โรงงานและยังมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น เช่น อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอีกมากมาย นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นจำนวนกว่า 1 แสนรายและมีการจ้างงานประมาณ 2 - 3 แสนคน ผู้ประกอบการไทยยังเป็นที่ยอมรับในมาตรฐานการออกแบบ การก่อสร้างและการผลิต นอกจากนี้บริษัทของไทยยังเข้าไปลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศต่างๆด้วย อีกไม่กี่เดือนเราจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กันแล้ว ได้เวลาที่ประเทศไทยควรมีการพิจารณาแก้ไขอุปสรรคความล่าช้าของใบอนุญาตก่อสร้างที่เปรียบเสมือนโรคเรื้อรังที่มีอยู่ทั่วประเทศและบั่นทอนเศรษฐกิจของประเทศ จากขั้นตอนซับซ้อนและผ่านหลายหน่วยงานต่างๆจากส่วนกลาง ไปถึงจังหวัด เทศบาล อบจ. อบต. หากเป็นโรงงานแม้ผ่านกระบวนการต่างๆ มาถึงอุตสาหกรรมจังหวัดแล้ว ยังต้องผ่านรองผู้ว่า และผวจ.
วัตถุประสงค์ของการจัดเสวนาครั้งนี้ด้วยความร่วมมือของ 7 สมาคม เพื่อระดมข้อคิดเห็นและเสนอแนะการแก้ไขปัญหาใบอนุญาตก่อสร้างแก่นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการพัฒนาประเทศให้เป็นผู้นำอาเซียนที่แข็งแกร่งโดยปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรมก่อสร้างและโครงการอสังหาริมทรัพย์ ร่วมกันสร้างสรรค์ความเชื่อมั่นในอนาคตที่ดีของประเทศไทย ส่งเสริมให้ไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน และช่วยให้ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอรัปชั่นที่ไทยรั้งอันดับที่ 102 จาก 177 ประเทศทั่วโลกนั้นดีขึ้นในสายตาคนไทยและชาวโลก”
นายไกร ตั้งสง่า (Krai Tungsanga ) วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.), นายประดิชญา สิงหราช (Praditchya Singharaj) อุปนายก สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, นายสุพจน์ โล่ห์วัชรินทร์ (Supote Lohwacharin) นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย, คุณประสงค์ ธาราไชย (Prasong Tharachai) สภาวิศวกร และนายอังสุรัสมิ์ อารีกุล (Aungsurus Areekul) นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แสดงข้อคิดเห็นถึงความสำคัญของงานวิศวกรรมและงานก่อสร้างเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนความมั่นคงปลอดภัย อีกทั้งเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าสูงและเกี่ยวพันกับการทำงานของระบบต่างๆในอาคาร การติดตั้งอุปกรณ์และตกแต่งที่ตามมาอีกมากมาย ปัญหาจากการขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ในพื้นที่เขตต่างๆใน กทม.และต่างจังหวัดที่ต้องผ่านองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.), องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)และเทศบาล มักมีความล่าช้าและอุปสรรคจากความไม่ชัดเจนและการตีความ ขาดประสิทธิภาพและกฏกระทรวงที่ไม่เหมาะสมกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคปัจจุบันซึ่งการดำเนินงานโครงการและธุรกิจอุตสาหกรรมต้องขับเคลื่อนสู่เป้าหมายและแข่งขันได้กับตลาดในประเทศและต่างประเทศ อุปสรรคเหล่านี้ยังบั่นทอนศักยภาพของอุตสาหกรรมไทย การลงทุนและพาณิชยกรรมของประเทศ อีกทั้งส่งผลกระทบด้านลบต่อการจ้างงาน ผลิตภาพและเศรษฐกิจโดยรวม
นายอธิป พีชานนท์ (Atip Bijanonda) นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร, นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ (Pornarit Chounchaisit) นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย, นายศุภสิทธิ์ ตั้งตรงจิตร (Supasit Tangtrongjit) กรรมการสมาคมอาคารชุดไทย ได้อภิปรายเกี่ยวกับ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม อาคารชุด จะมีเอกสารและผ่านหน่วยงานแตกต่างกันไป ซึ่งมีขั้นตอนและเอกสารมากมาย โดยในพื้นที่กทม.จะผ่านกรุงเทพมหานคร และเมืองหลัก ส่วนต่างจังหวัดที่ต้องผ่านอบต. อบจ.และเทศบาล นอกจากนี้เมื่อจะถมดินก็จะต้องผ่านขั้นตอนขอใบอนุญาตถมดินในโครงการ ความซับซ้อนนำไปสู่อุปสรรค ซึ่งแผ่ขยายเป็นวงกว้างทั่วประเทศ สร้างภาพลบให้เศรษฐกิจของประเทศ ในส่วนค่าใช้จ่ายที่ต่างๆที่เพิ่มพูนเป็นต้นทุนที่งอกขึ้น และกลายเป็นราคาที่ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ต้องจ่ายแพงขึ้นแทนที่จะได้ซื้อที่อยู่อาศัยในราคายุติธรรม
นายไกร ตั้งสง่า ได้สรุปข้อเสนอแนะของ 8 สมาคมในการแก้ไขปัญหาการออกใบอนุญาตก่อสร้าง เพื่อการพัฒนาปฎิรูปประเทศให้มีประสิทธิภาพ ธรรมาภิบาลและศักยภาพของประเทศไทย มี 7 ข้อ ดังนี้คือ
1. กำหนดระยะเวลาในการออกใบอนุญาตก่อสร้าง และใบอนุญาตถมดิน โดยให้กรุงเทพมหานคร อบต. อบจ. เทศบาล กระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ระบุการใช้เวลาจำนวนวันในการอนุมัติให้ชัดเจน ตามประเภทของอาคารและโรงงานอุตสาหกรรม หากพ้นกำหนดตามระยะเวลาให้แจ้งสาเหตุแห่งความล่าช้า
2. กำหนดค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาตก่อสร้าง โดยแบ่งตามชนิดและประเภทของอาคาร ประเภทของโรงงาน และใบอนุญาตถมดิน ให้ใช้เป็นมาตรฐานแก่หน่วยงานของรัฐในส่วนความรับผิดชอบของตน ทั่วประเทศ ห้ามมิให้มีค่าใช้จ่ายใดๆอีก
3. เสนอยกเลิกมาตรา 39 ทวิ ในการให้วุฒิวิศวกร หรือ วุฒิสถาปนิกเซ็นรับรองในการขอใบอนุญาตก่อสร้าง ในการออกแบบและคุมงานก่อสร้าง เพื่อจะได้มาซึ่งหน่วยราชการอนุมัติ ใบอนุญาตก่อสร้างในโครงการนั้น
4. เสนอสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกกำหนดข้อห้าม มิให้ข้าราชการ วิศวกร และสถาปนิก ที่ทำงานในเขต กรุงเทพมหานคร อบจ. อบต. เทศบาล ทำการออกแบบ คุมงาน โครงการก่อสร้างในพื้นที่ที่เขตการปกครองของตน ทำงานอยู่ เพื่อปกป้องวิชาชีพวิศวกรและสถาปนิก และเป็นประโยชน์ทับซ้อน
5. ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ของกรุงเทพมหานคร อบจ. อบต. เทศบาล ที่ทำหน้าที่ในทุกระดับชั้น ในการออกใบอนุญาตก่อสร้าง ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินทุกปีแก่ ปปช. เพื่อแสดงความโปร่งใสมีคุณธรรม
6. ในกรณีที่หน่วยของรัฐขอใบอนุญาตการก่อสร้างจากหน่วยงานรัฐ กรุงเทพมหานคร อบจ. อบต. เทศบาล ให้หน่วยงานของรัฐ ดำเนินการขอโดยตรง โดยไม่ต้องรอผู้รับเหมาก่อสร้าง เป็นผู้ขอใบอนุญาตก่อสร้างแทน
7. ปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงและพรบ.ควบคุมอาคารที่ล้าสมัย