อ็อกแฟมเผยจำนวนมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหลังวิกฤติเศรษฐกิจส่งผลความเหลื่อมล้ำทางสังคมรุนแรงขึ้น

ข่าวทั่วไป Monday November 3, 2014 11:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--อ็อกแฟม ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่รุนแรงขึ้นกำลังส่งผลให้ปัญหาความยากจนกลับมาอีกครั้ง ซึ่งอาจทำให้ความเจริญในบางประเทศถอยหลังไปถึง 10 ปีเลยทีเดียว องค์การอ็อกแฟมเตือนหลังจากผลการศึกษาฉบับล่าสุดพบว่าความมั่งคั่งไม่ได้กระจายไปยังประชากรทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงแต่กระจุกตัวอยู่กับกลุ่มคนรวยจำนวนหยิบมือเดียว ในรายงาน “Even it Up: Time to End Extreme Inequality” (ทำให้เท่าเทียม – ถึงเวลาแล้วที่ต้องหยุดความเหลื่อมล้ำ) อ็อกแฟมได้พูดถึงปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน พร้อมเผยว่า วิกฤติการเงินที่ผ่านมาทำให้มีจำนวนมหาเศรษฐีทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าในขณะที่คนจนกลับจนลงหลายเท่า โดยมหาเศรษฐีพันล้านเหรียญ 85 อันดับแรกที่จัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์ปส์เมื่อปีที่แล้วเหล่านี้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นกว่า 668 ล้านเหรียญสหรัฐต่อวันระหว่างปี 2556 และ ปี 2557 คิดเป็นรายได้ประมาณครึ่งล้านเหรียญทุกๆ นาที และคนกลุ่มเดียวกันนี้เองที่มีทรัพย์สินรวมมูลค่าเท่ากับที่คนยากจนในโลกจำนวนหลายพันล้านคนมีรวมกัน และคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ แม้ว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ พระสันตปาปา หรือประธานธิบดีบารัก โอบามา จะเห็นพ้องว่าความเหลื่อมล้ำเป็นความท้าทายที่หนักหน่วงของยุค และจะสร้างความเสียหายต่อสังคมและเศรษฐกิจ มาตรการที่เป็นรูปธรรมก็แทบไม่ปรากฎให้เห็น “การที่รัฐบาลนิ่งเฉย ไม่มีมาตรการอุดช่องว่างนี้จึงถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างมาก สำหรับประเทศไทยนั้นความเหลื่อมล้ำมีอยู่ทุกหนทุกแห่งและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และทรัพย์สิน นโยบายของรัฐทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิในการเข้าถึงทรัพยการที่ดิน ป่าไม้ ประมง รวมไปถึงคุณภาพการศึกษา และสิทธิสตรี จึงควรส่งเสริมการพัฒนานโยบายของรัฐในการลดความเหลื่อมล้ำ และร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ยั่งยืน” สุนทรี แรงกุศล ผู้อำนวยการอ็อกแฟมประเทศไทยกล่าว ข้อเรียกร้องของรายงานฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนจากนายโคฟี่ อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาติ (ยูเอ็น) และนายโจเซฟ สติกลิตส์ นักเศรษฐศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2544 ว่ารัฐบาลทั้งหลายต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังเพื่อสร้างโอกาสชีวิตให้กับคนจนผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ เช่น การบังคับใช้กฏหมายการจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย การให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร การป้องกันการเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ การจัดระบบการจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใส เป็นต้น ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยฉลี่ยที่ร้อยละ 7 ต่อปี ทำให้ความยากจนลดลงจนสัดส่วนคนไทยที่มีรายได้ต่ำว่า 2 เหรียญสหรัฐ (60 บาท) ต่อวัน (มาตรฐานวัดความยากจนทั่วโลกของธนาคารโลก) ลดลงจากร้อยละ 26 ในปี 2535 เหลือร้อยละ 12 ใน 20 ปีต่อมา แต่ประชากรกลุ่มที่มีรายได้สูงกว่า 60 บาทต่อวันเพียงเล็กน้อยยังคงมีจำนวนมาก ซึ่งความเป็นอยู่ของคนกลุ่มนี้ไม่ต่างจากกลุ่มรายได้ 60 บาท เท่าใดนัก แต่เมื่อใดที่รัฐบาลมีการดำเนินนโยบายที่เอื้อให้ก่อเกิดความมั่นคงและรายได้อย่างทั่วถึง แม้จะเป็นโครงการขนาดเล็ก ผลที่ได้กลับมากมาย ตัวอย่างเช่นการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากเศรษฐีพันล้านเพียง 1.5 เปอร์เซ็นต์จะช่วยให้เด็กยากจนทุกคนในประเทศด้อยพัฒนาได้ไปโรงเรียนและได้รับการรักษายามป่วยไข้ ในประเทศไทย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การให้เด็กไทยรับสารไอโอดีนอย่างเพียงพอ จะช่วยป้องกันสมองเด็กไม่ให้ไอคิวต่ำลง หรืออย่างการใช้ทรัพยากรหรือสิ่งของที่หาได้ง่ายในชุมชนมาใช้เพื่อปรับปรุงระบบจัดการน้ำในไร่นาของตนเอง เกษตรกรสามารถป้องกันผลิตผลไม่ให้เสียหายจากภัยแล้งหรือน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ มีค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย แต่ผลลัพธ์ที่ได้ต่อการพัฒนาทรัพยากรคนและประเทศกลับมหาศาล ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว วินนี่ บยันยิมา ผู้อำนวยการบริหารอ็อกแฟมกล่าวว่า “ความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างรุนแรงเป็นอุปสรรคต่อความมั่งคั่งของคนส่วนใหญ่บนโลกนี้ ปัจจุบันนี้มีแต่คนรวยที่รวยขึ้น และถ้าภาครัฐไม่แก้ตรงนี้ ปัญหานี้จะยิ่งหนักขึ้น เราไม่ควรยอมให้หลักเศรษฐกิจที่คับแคบและผลประโยชน์ของคนรวยและมีอำนาจซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยนี้มาบังตาเราจากความจริงที่ว่ามีคนหลายล้านคนทั่วโลกที่กำลังจะตายเพราะไม่ได้เข้าถึงสวัสดิการด้านสุขภาพ เด็กหลายล้านคนไม่ได้ไปโรงเรียน ความเหลื่อมล้ำขัดขวางการเติบโต ทำให้ระบบการเมืองเสื่อมทราม ตัดโอกาสคนในประเทศ และทำให้โครงสร้างประเทศสั่นคลอนในขณะที่ทำให้การเลือกปฏิบัติแผ่กระจายเป็นวงกว้าง”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ