สำรวจพฤติกรรมการChat ด้วยสมาร์ทโฟนควบคู่กับกิจกรรมอื่นๆ

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday November 4, 2014 11:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาร่วมแถลงผลสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นต่อการChatด้วยสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ตควบคู่กับกิจกรรมอื่น ๆ จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,120 คน ระหว่างวันที่ 25-30 ตุลาคม 2557 สืบเนื่องจากการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ถือเป็นพฤติกรรมปกติในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วไป ทั้งนี้การใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการใช้ในช่วงเวลาว่างจากการทำกิจกรรมอื่นๆ แต่มักใช้ควบคู่กับการทำกิจกรรมอื่นๆอยู่เสมอ เช่น ใช้ขณะรับประทานอาหาร ใช้ขณะเดินทาง ใช้ขณะเรียนหรือทำงาน เป็นต้น ขณะเดียวกันมีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่นิยมใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ทำกิจกรรมต่างๆ ในขณะที่ตนเองกำลังขับขี่ยานพาหนะ เช่น การพูดคุยสนทนาหรือ chat การรับส่งภาพ/คลิป หรือการแบ่งปัน (share) ข้อมูลต่างๆ ซึ่งการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ขณะขับขี่ยานพาหนะนั้นก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ได้ เช่น อุบัติเหตุทั้งกับตนเองและผู้อื่น การกีดขวางการจราจร หรือการทำให้การจราจรติดขัด ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้นับวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามความนิยมใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของผู้คนซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุดังกล่าว กองบังคับการตำรวจจราจร กองบัญชาการตำรวจนครบาลจึงได้กำหนดมาตรการจับกุมผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ขณะขับขี่ยานพาหนะเพื่อป้องกันและลดปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลกับความปลอดภัยรวมถึงแก้ปัญหาการจราจร โดยมาตรการดังกล่าวได้ดำเนินการมาเป็นเวลาประมาณ 2 เดือนแล้ว ทั้งนี้ผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าวเพราะจะช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุ และสามารถแก้ไขปัญหาจราจรได้ แต่ผู้คนอีกส่วนหนึ่งก็ไม่เห็นด้วยเนื่องจากมีความคิดเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นต่อการเล่นเครือข่ายสังคมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่/แท็บเล็ตขณะขับขี่ยานพาหนะของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,120 คน สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 50.98 ขณะที่ร้อยละ 49.02 เป็นเพศชาย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 33.39 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 25 ถึง 34 ปี นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีซึ่งคิดเป็นร้อยละ 35.18 ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นลูกจ้าง/พนักงานในห้างร้านหรือบริษัทเอกชน ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และนักเรียนนักศึกษาซึ่งคิดเป็นร้อยละ 30.98 ร้อยละ 25.71 และร้อยละ 20.09 ตามลำดับ ในด้านพฤติกรรมการเล่นเครือข่ายสังคมออนไลน์ขณะขับขี่ยานพาหนะ กลุ่มตัวอย่างถึงเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 72.68 ยอมรับว่าตนเองเคยเล่นเครือข่ายสังคมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่/แท็บเล็ตขณะขับขี่ยานพาหนะ สำหรับกิจกรรมที่กลุ่มตัวอย่างนิยมทำบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ขณะขับขี่ยานพาหนะสูงสุด 3 อันดับได้แก่ เขียน/อ่านข้อความแสดงความคิดเห็น/อารมณ์/ความรู้สึก คิดเป็นร้อยละ 84.77 สนทนา (chat) คิดเป็นร้อยละ 81.82 และแสดงรูปภาพต่างๆที่ตนเองถ่าย คิดเป็นร้อยละ 78.38 ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 30.71 นิยมเล่นเครือข่ายสังคมออนไลน์ในขณะยานพาหนะจอดรอ/คอยบุคคลอื่น รองลงมานิยมเล่นขณะยานพาหนะติดสัญญาณไฟจราจรและขณะยานพาหนะติดอยู่บนถนนที่การจราจรติดขัดซึ่งคิดเป็นร้อยละ 24.82 และร้อยละ 21.38 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.41 นิยมเล่นขณะจอดยานพาหนะเพื่อซื้อของ/เติมน้ำมัน โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.35 ที่นิยมเล่นขณะบังคับพวงมาลัยของยานพาหนะ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ 50.49 ระบุว่าการเล่นเครือข่ายสังคมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่/แท็บเล็ตขณะขับขี่ยานพาหนะ เคยส่งผลให้ตนเองขับขี่ยานพาหนะไปผิดเส้นทางอยู่บ้างเป็นบางครั้ง และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 47.91 ระบุว่าการเล่นเครือข่ายสังคมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่/แท็บเล็ตขณะขับขี่ยานพาหนะเคยส่งผลให้ตนเองทำผิดกฎจราจร เช่น จอดรถในที่ห้ามจอด แซงรถในระยะกระชั้นชิด กลับรถในที่ห้ามกลับ ฝ่าสัญญาณไฟจราจร เป็นต้นบ้างเป็นบางครั้ง ขณะที่หลังมีการเริ่มกวดขันการห้ามใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ขณะขับขี่ยานพาหนะ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ 51.72 ระบุว่าการเริ่มกวดขันจับกุมผู้ที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่/แท็บเล็ตเล่นเครือข่ายสังคมออนไลน์ขณะขับขี่ยานพาหนะส่งผลให้ตนเองเล่นเครือข่ายสังคมออนไลน์ขณะขับขี่ยานพาหนะน้อยลง ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.22 ระบุว่าไม่เล่นเลย แต่อย่างไรก็ตามยังมีกลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 25.06 ระบุว่ายังคงเล่นเหมือนเดิม ในด้านความคิดเห็นต่อผลกระทบจากการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ขณะขับขี่ยานพาหนะ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.91 มีความคิดเห็นว่าการเล่นเครือข่ายสังคมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่/แท็บเล็ตขณะขับขี่ยานพาหนะ ส่งผลให้ผู้ขับขี่มีสมาธิในการขับขี่ยานพาหนะลดลง ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.07 มีความคิดเห็นว่าการเล่นเครือข่ายสังคมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่/แท็บเล็ตขณะขับขี่ยานพาหนะ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการตัดสินใจขณะขับขี่ยานพาหนะของผู้ขับขี่ลดลง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.73 เห็นด้วยว่าการเล่นเครือข่ายสังคมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่/แท็บเล็ตขณะขับขี่ยานพาหนะมีส่วนทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดได้ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 25.63 ไม่เห็นด้วย นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 72.41 เห็นด้วยกับการกวดขันจับกุมผู้ที่เล่นเครือข่ายสังคมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่/แท็บเล็ตขณะขับขี่ยานพาหนะ และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งมีความคิดเห็นว่าสมควรจับกุมผู้ขับขี่ยานพาหนะที่เล่นเครือข่ายสังคมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่/แท็บเล็ตขณะที่ยานพาหนะกำลังติดสัญญาณไฟจราจรเป็นเวลานานซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.3 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.38 มีความคิดเห็นว่าไม่สมควร ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.32 ไม่แน่ใจ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ