กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--Global Creation
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2557 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน หดตัวร้อยละ 3.9 ซึ่งอุตสาหกรรมที่ทำให้ลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องประดับเพชรพลอย และผลิตภัณฑ์ยาสูบ ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 61.10
นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2557 หดตัวร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน แต่ดัชนีการส่งสินค้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 61.10 สำหรับอุตสาหกรรมที่ทำให้การผลิตลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรม การผลิตรถยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องประดับเพชรพลอย และผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2557 สาขาที่สำคัญ มีดังนี้
อุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตรถยนต์เดือนกันยายนปี 2557 หดตัวเมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลดลงของตลาดในประเทศ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว และตลาดที่ปรับตัวสู่สมดุลหลังสิ้นสุดโครงการรถยนต์คันแรก ด้านการส่งออกรถยนต์เดือนกันยายน ปี 2557 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 17.49 โดยเป็นการลดลงของตลาดเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนกันยายน 2557 ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.59 เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ พัดลมตามบ้าน กระติกน้ำร้อน เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต และเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.32, 41.72, 8.16 และ 7.61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากจะมีคำสั่งซื้อเพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.54 สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการผลิตปรับตัวลดลง ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์-ไดรฟ์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป กลับมามีอัตราการหดตัว ด้านภาวะการส่งออกในเดือนกันยายน 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.05 ส่วนการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.37 ซึ่งมาจากการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดโลกและความต้องการของสินค้าสำเร็จรูปอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแผงวงจรไฟฟ้าเป็นส่วนประกอบ ทำให้การส่งออกแผงวงจรไฟฟ้ามีมูลค่าสูงตามไปด้วย
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณความต้องการบริโภคเหล็กของไทยในเดือนกันยายนปี 2557 มีปริมาณ 1.24 ล้านตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การผลิตมีปริมาณ 0.48 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.67 การส่งออกมีมูลค่า 73.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.58 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 641.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.65 โดยในส่วนของเหล็กทรงยาวการบริโภคและการผลิตลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหล็กนำเข้าจากจีน ซึ่งแม้จะมีการใช้มาตรการ AD ในส่วนของเหล็กลวด (ร้อยละ 5)แต่ก็ยังมีการนำเข้าสินค้าจากประเทศดังกล่าวอยู่
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มกลุ่มเส้นใยสิ่งทอ เดือนกันยายน ปี 2557 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อของตลาดภายในและต่างประเทศ ในส่วนกลุ่มผ้าผืน มีการผลิตลดลง แต่การจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีการผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตไว้ส่งมอบในช่วงปลายปี ซึ่งคาดว่าการบริโภคในประเทศจะฟื้นตัวดีขึ้น และยังมีคำสั่งชื้อจากต่างประเทศเริ่มทยอยเข้ามา ด้านการส่งออกเดือนกันยายน ปี 2557 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นในกลุ่มเส้นใยสิ่งทอฯ เนื่องจากมีการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อินโดนีเซีย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.03 และปากีสถาน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.76 ส่วนกลุ่มผ้าผืน การส่งออกมีมูลค่าลดลง ในตลาดคู่ค้าหลัก ได้แก่ ตลาดเวียดนาม บังคลาเทศ และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ สำหรับกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มูลค่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้น ในตลาดอาเซียนและญี่ปุ่น แต่จะลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป
อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตอุตสาหกรรมอาหาร เดือนกันยายน ปี 2557 ภาพรวมปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 17.0 เนื่องจากการผลิตผลิตมันสำปะหลัง และผักผลไม้ที่ลดลง เป็นผลจากปัญหาวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการระบาดของโรค และภาวะการใช้จ่ายในประเทศที่ยังทรงตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังได้รับ ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะงักงัน ส่วนด้านการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 เนื่องจากการได้รับผลดีจากการเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป