กรุงเทพ--24 ต.ค.--กระทรวงพาณิชย์
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ส่งออกพืชผลการเกษตรของไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และในปี 2541 มีแนวโน้มแจ่มใส โดยเฉพาะข้าว และมันสำปะหลัง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาซื้อขายในประเทศสูงขึ้นด้วย
นายณรงค์ชัยกล่าวว่า การส่งออกข้าวในรอบ 9 เดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2540 มีประมาณทั้งสิ้น 3.92 ล้านตัน มีมูลค่า 43.1 ล้านบาท เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2539 ซึ่งมีปริมาณ 4.24 ล้านตัน มีมูลค่า 39.04 ล้านบาท มีปริมาณลดลงร้อยละ 8 แต่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 อย่างไรก็ตามในเดือนตุลาคม 2540 จะมีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 4.5 แสนตัน และคาดว่า ณ สิ้นปี 2540 การส่งออกข้าวไทยจะมีมูลค่าประมาณ 51,750 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 47.04 ล้านบาท หรือสูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 10
สำหรับสถานการณ์ทางการตลาดในปี 2541 เนื่องจากปัญหาเอลนิโน่ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผลผลิตข้าวในหลายภูมิภาคของโลก ทำให้แนวโน้มความต้องการข้าวในตลาดโลกมีมากขึ้นทั้งในช่วงปลายปี 2540 ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปี 2541 ตลาดสำคัญที่ทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ระหว่างการซื้อขาย คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง อเมริกากลาง อเมริกาใต้ และอัฟริกา การส่งออกจึงยังเป็นของผู้ขาย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะสามารถรองรับผลผลตข้าวในระยะสิ้นฤดูที่จะมาถึงนี้ได้อย่างเพียงพอ
ส่วนภาวะการค้ามันสำปะหลังได้ดีขึ้นจากเดิมมาก เนื่องจากได้มีการสั่งซื้อแป้งมันการส่งผลผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ในช่วง 9 เดือน ระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน 2540 มีปริมาณรวม 2,915.7 ล้านตัน สูงกว่าปี 2539 ร้อยละ 12.9 นอกจากนี้ภายในประเทศก็มีการใช้มันสำปะหลังเพื่อเลี้ยงสัตว์มากขึ้น จึงเป็นผลให้ราคาหัวมันสดทั้งประเทศในขณะนี้สูงขึ้นในระดับที่น่าพอใจ กล่าวคือ ราคาหัวมันสดที่มีเชื้อแป้ง 25% จะมีราคาประมาณ 0.90-1.10 บาท หรือโดยเฉลี่ยทั้งประเทศประมาณ 1 บาท
นายณรงค์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากความแห้งแล้งได้ทำให้ผลผลิตของอินโดนีเซียลดต่ำลง และขณะนี้ได้มีคำสั่งซื้อแป้งมันจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นตามลำดับ กระทรวงพาณิชย์จึงมั่นใจว่า ราคาหัวมันสดในฤดูใหม่นี้จะอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นที่น่าพึงพอใจแก่เกษตรกร
อนึ่ง การส่งออกสินค้าอื่นๆ ในส่วนที่กรมการค้าต่างประเทศดูแลอยู่มีแนวโน้มการขยายตัวมากยิ่งขึ้น โดยปริมาณการยื่นคำร้องขอส่งออกสินค้าต่างๆ ของประเทศผู้ประกอบการส่งออกต่อกรมการค้าต่างประเทศระหว่างวันที่ 1มกราคม-10 ตุลาคม 2540 เปรียบเทียบกับช่วงแรกเดียวกันของปี 2539 มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยร้อยละ 5.8 แยกเป็นการยื่นคำขอส่งออกสินค้าสิ่งทอ สินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า หรือ GSP และสินค้าส่งออกทั่วไป ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7, 4.7 และ 2.3 ตามลำดับ ซึ่งสินค้าสิ่งทอยื่นขอส่งออกไปสหรัฐอเมริกามากที่สุด ตามด้วยสหภาพยุโรป และ GSP ของฟอร์ม A ส่งออกไปสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น และฟอร์ม D ส่งออกไปกลุ่มประเทศภาคีอาเซียน สำหรับการยื่นคำร้องขอนำเข้าสินค้าในช่วงแรกดังกล่าวลดลงร้อยละ 17.9--จบ--