ครม.อนุมัติ กฟภ.ก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กน้ำสานและน้ำหมัน จ.เลย

ข่าวทั่วไป Wednesday September 24, 1997 12:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--24 ก.ย.--การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ครม.อนุมัติให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กน้ำสานและน้ำหมัน จ.เลย ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเปือย ป่าภูขี้เถ้าและป่าภูเรือ ในท้องที่ อ.ภูเรือ และ อ.ด่านซ้าย จ.เลย เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 40 โดยให้ดำเนินการตามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สืบเนื่องจาก ปัจจุบันการใช้ไฟฟ้าของ อ.ภูเรือ และ อ.ด่านซ้าย จ.เลย ต้องจ่ายไฟด้วยระบบสายส่ง 22 กิโลวัตต์ จากสถานีไฟฟ้าย่อย เลย พิษณุโลก และหล่มสัก ซึ่งมีระยะทางไกลประมาณ 50-100 กิโลเมตร ทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงและการสูญเสียในระบบจำหน่าย ทำให้แรงดันไฟฟ้าปลายสายตกถึง 14% (จาก 220 โวลท์ เหลือเพียง 190 โวลท์) เกิดไฟดับและกระแสไฟฟ้าขัดข้องบ่อยครั้งอีกทั้งหน่วยพลังงานไฟฟ้าสูญเสียในสายประมาณร้อยละ 7.4 ของพลังงานไฟฟ้าที่ส่งให้พื้นที่กฟภ.จึงได้จัดทำโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กน้ำสานและน้ำหมันขึ้นเพื่อเพิ่มความมั่นคงในการจ่ายกระแสไฟฟ้าและลดหน่วยสูญเสียในระบบจำหน่ายดังกล่าว และเพื่อสนองนโยบายรัฐในการจัดหาพลังงานเสริมจากธรรมชาติเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิง
โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กน้ำสาน จะดำเนินการก่อสร้างที่บริเวณบ้านลาดต่าง อ.ภูเรือ จ.เลย ก่อสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 6,000 กิโลวัตต์ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยต่อปี 27 ล้านหน่วย ส่วนโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กน้ำหมัน จะดำเนินการก่อสร้างที่บริเวณบ้านหัวนายูง ต.ด่านซ้าย จ.เลย ก่อสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 5,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยต่อปี 21 ล้านหน่วย โครงการดังกล่าวจะผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้พลังงานน้ำจากฝายน้ำล้น ส่วนหนึ่งผันเข้าอุโมงค์ส่งน้ำมาปั่นเครื่องกำเนิดกังหันน้ำหมุนขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าภายในโรงไฟฟ้า แล้วปล่อยน้ำลงสู่ลำธารตามทิศทางการไหลตามธรรมชาติ
สำหรับการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำเป็นการก่อสร้างใต้ดิน ไม่มีการเปิดหน้าดินและตัดต้นไม้หรือพืชพรรณปกคลุมดินตลอดแนวอุโมงค์ส่งน้ำ จากการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการฯ ทางด้านคุณภาพอากาศ อุทกวิทยา คุณภาพน้ำผิวดิน การชะล้างพังทลายของดินและเสียง พบว่าจะมีผลกระทบน้อยมากเพราะจะเกิดในระยะเริ่มก่อสร้างโครงการเท่านั้น ประกอบกับมีการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งช่วงก่อสร้างและการดำเนินงาน สำหรับผลกระทบโครงการต่อคุณภาพน้ำใต้ดินนั้นจะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากแนวความลึกของอุโมงค์อยู่ห่างจากระดับชั้นน้ำบาดาล ส่วนผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อป่าไม้และสัตว์ป่ามีน้อยมาก เนื่องจากจะมีการเปิดพื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการเพียงโครงการละ 1.6 ไร่เท่านั้น ส่วนงานอื่นจะเป็นการขุดเจาะใต้พื้นผิวดินในระดับลึกไม่ต่ำกว่า 40 เมตร และสัตว์ป่าที่พบส่วนใหญ่สามารถปรับตัวเข้ากับโครงการได้หรืออพยพไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใกล้เคียงได้
หากโครงการนี้แล้วเสร็จ จะสามารถให้บริการประชาชนในพื้นที่และหน่วยราชการโรงพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียงได้ถึง 13,910 ครัวเรือน อันจะเป็นการขยายและปรับปรุงการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงโครงการ อีกทั้งเป็นการกระจายความเจริญสู่ชนบทและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบทอีกด้วย โดยที่ กฟภ.คาดว่าจะเริ่มดำเนินงานก่อสร้างโครงการในพื้นที่ได้ประมาณต้นปี 2541 และจะแล้วเสร็จสามารถอำนวยประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ได้ประมาณต้นปี 2543--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ