กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
การประชุมวิชาการระดับชาติ (National Conference) ภายใต้หัวข้อ เมืองเปลี่ยน เปลี่ยนเมือง...ใครแย่? ดำเนินงาน “ความร่วมมือในการทำงานวิจัยด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการเครือข่ายเมืองในเอเชียเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Asian Cities Climate Change Resilience Network-ACCCRN) ร่วมกับ Institute for Social and Environmental Transition (ISET) ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก International Institute for Environment and Development (IIED) เพื่อเปิดโอกาสให้ นักวิจัย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และเอกชน ได้ร่วมนำเสนอและเผยแพร่ผลงานทางวิชาการที่ได้จากการวิจัยภายใต้โครงการฯ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลักดันไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย ซึ่งจะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยสร้างการรับมือของเมืองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน
งานวิจัยภายใต้โครงการฯ มี 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านเมืองและกระบวนการกลายเป็นเมือง (Urban/Urbanisation) 2.ด้านความเปราะบางของคนเมือง (People centred / Vulnerability) 3.ด้านผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เมืองได้รับ (Climate Change) ซึ่งทั้ง 3 ด้านต่างมีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน ทั้งนี้กระบวนการกลายเป็นเมืองทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่เหมาะสมจะทำให้เมืองมีความเปราะบาง และเมื่อได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยิ่งส่งผลให้เมืองมีความเปราะบางรุนแรงเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีการร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ๆ และประสบการณ์เชิงวิชาการที่นำไปสู่ภาคปฏิบัติ รวมถึงเพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลักดันไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย ซึ่งจะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยสร้างการรับมือของเมืองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน
Dr. Bart Lambregts ภาควิชาการวางแผนเมืองและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงแนวโน้มในอนาคตและปัจจัยขับเคลื่อนความเป็นเมืองของกรุงเทพฯ ว่า “กระบวนการกลายเป็นเมืองของกรุงเทพฯ ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากชนบทสู่เมือง ปัจจัยขับเคลื่อนทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การบริการ เส้นทางคมนาคม ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่มีการพัฒนามากที่สุดในประเทศ แต่กระบวนการกลายเป็นเมืองที่ไม่มีการวางแผนและไม่มีทิศทางที่เหมาะสมจะทำให้เมืองได้รับผลกระทบในที่สุด”
ในขณะที่ รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิจัยความอยู่ดีมีสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้ทัศนะเกี่ยวกับเมืองขอนแก่นว่า “ขอนแก่นในปัจจุบันแตกต่างจากอดีตมาก มีการขยายตัวทุกทิศทางปัจจัยขับเคลื่อนมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจของเมือง และนโยบายการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคให้เป็นศูนย์กลางทางด้านต่างๆ ในระดับภาค เช่น การค้า การศึกษา ทิศทางเมืองในอนาคตจะเป็นอย่างไร ระหว่าง เมืองน่าอยู่ (สิ่งแวดล้อมดี สังคมเอื้ออาทร พื้นที่สีเขียว) หรือเมืองแห่งสีสัน แต่แออัด
ส่วน ผศ.ดร.ชนิษฎา ชูสุข คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ กล่าวว่า “เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจ การค้า ปัญหาน้ำท่วม เป็นปัญหาหลักเนื่องจากหาดใหญ่อยู่บนพื้นที่ราบลุ่ม การเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ของเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ โครงสร้างพื้นฐาน ถนน รถ การจราจร คนเดินทางจากฝากหนึ่งไปสู่อีกฝากหนึ่งของเมือง รถติดมาก นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จากการจัดเวทีชุมชน เพื่อให้ชุมชนตอบโจทย์ อยากให้เมืองหาดใหญ่เป็นแบบไหน?เมืองมีชีวิตชีวา เมืองคนอยู่ดีมีสุข เมืองสิ่งแวดล้อมดี หรือเป็นเมืองหาดใหญ่เป็นเมืองที่ไม่เคยหลับอยากที่นักบริหารอยากให้เป็น”
ด้าน ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การเจริญเติบโตของเมืองเชียงใหม่ในปัจจัน ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม ต่างๆ ตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เมืองพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็ว เมืองเติบโตตามถนน มากกว่าผังสีหรือผังเมือง เมืองโตขึ้นหลายๆ แบบ เราต้องมีการวางแผนการเติบโตของเมืองเราทิ้งเรื่องของการวางแผนไม่ได้ ถึงจะล้มเหลวกี่ครั้งก็แล้วแต่ก็จะต้องเริ่ม รวมถึงต้องกระตุ้นให้ประชาชนเกิดจิตสำนึกว่าตัวเองอยากได้เมืองแบบไหน เพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนในการรับมือในอนาคต
ปัจจุบันเมืองใหญ่ๆ ในภูมิภาคต่างๆ มีการพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากปัจจัยการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านต่างๆ ปัญหาของมีความซับซ้อนมากขึ้น และการนิยามขอบเขตคำว่า “เมือง” ที่มีความแตกต่างกัน มีทิศทางที่ซับซ้อน องค์กรเดียวแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องร่วมกันแก้ไขการแก้ไขต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เกิดปัญหาด้านอื่นๆ ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ผลกระทบบต่อคน มีความเปราะบางมากขึ้น และเมื่อหากได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีความไม่แน่นอน คาดการณ์สถานการณ์ได้ยาก และรวมกับสภาวะอากาศสุดโต่ง จะยิ่งซ้ำเติมให้ผลกระทบที่เมืองได้รับทวีความรุนแรง รวมไปถึงความเปราะบางของประชาการในเมืองและเศรษฐกิจ ผู้บริหาร/ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจจะมีวิธีการบริหารเมืองอย่างไรให้สอดคล้องกับผู้ได้รับผลกระทบ