กรมควบคุมโรคเตือนลอยกระทง...ระวังบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกเปลวหรือสะเก็ดดอกไม้ไฟหรือพลุข้อมูล 10 ปี พบ บาดเจ็บปีละ 652 ราย และเสียชีวิตปีละ 1-4 ราย

ข่าวทั่วไป Wednesday November 5, 2014 14:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--โฟร์ พี.แอดส์ (96) กรมควบคุมโรค เตือนประชาชน ป้องกันการบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกเปลวหรือสะเก็ดดอกไม้ไฟหรือพลุ บาดเจ็บปีละ 652 ราย และเสียชีวิตปีละ 1-4 ราย เพราะความประมาท รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และความอยากรู้อยากเห็นอาจมีอันตรายถึงชีวิตและพิการได้ ทั้งนี้ไม่ควรให้เด็กอยู่ใกล้บริเวณที่มีการจุดดอกไม้ไฟ ประทัดหรือพลุไม่ควรขายดอกไม้ไฟ ประทัดหรือพลุ รวมทั้งไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ตลอดจนแจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อพบเห็นสิ่งผิดปกติ การกระทำที่ละเมิดกฎหมายหรือสิทธิของผู้อื่น นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า กรมควบคุมโรค โดยสำนักระบาดวิทยา ได้วิเคราะห์การบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกเปลวหรือสะเก็ดดอกไม้ไฟหรือพลุจากโรงพยาบาลเครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บแห่งชาติ 28 แห่ง ระหว่างปี พ.ศ. 2552 – 2556 พบจำนวนผู้บาดเจ็บรุนแรงจากการถูกเปลวหรือสะเก็ดดอกไม้ไฟหรือพลุ ทั้งสิ้น 3,260 ราย (เฉลี่ยปีละ 652 ราย) ผู้เสียชีวิต 8 ราย โดยในปี พ.ศ. 2556 ผู้เสียชีวิต 2 ราย เกิดเหตุในวันลอยกระทง 1 ราย และเดือนธันวาคม 1 ราย ลักษณะการบาดเจ็บรุนแรงที่อวัยวะนิ้วมือ ข้อมือ และคอ ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ร้อยละ 93.9 กลุ่มอายุที่พบบ่อย คือ กลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 10-14 ปี (ร้อยละ 17.4) ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 44.32 เดือนที่เกิดเหตุสูงสุด คือ เดือนตุลาคมหรือช่วงเทศกาลวันออกพรรษา และช่วงลอยกระทง ช่วงเวลาที่เกิดเหตุสูงสุดคือ เวลา 18.01 – 19. 59 น. ร้อยละ17.2 สถานที่เกิดเหตุเป็นบ้านและบริเวณบ้าน มากที่สุด (ร้อยละ 72.6) และ อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บมากที่สุดคือ ข้อมือและมือ (ร้อยละ 43.0) โรงพยาบาลจังหวัดเครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บที่มีผู้บาดเจ็บรุนแรงจากเปลวสะเก็ดดอกไม้ไฟหรือพลุสูงสุด คือ โรงพยาบาลขอนแก่น ร้อยละ 11.6 รองลงมาคือ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และโรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์ (ร้อยละ 9.2 และ 8.1 ตามลำดับ) ทั้งนี้ผู้บาดเจ็บรุนแรงจากการถูกเปลว สะเก็ดดอกไม้ไฟหรือพลุ มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย ร้อย 22 เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2555 ร้อยละ 15.6 นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า พลุและดอกไม้ไฟจัดเป็นวัตถุระเบิดชนิดหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 รวมทั้งประกาศหลักเกณฑ์การควบคุมและกำกับดูแลการผลิต การค้า การครอบครอง การขนส่งดอกไม้เพลิง และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง พ.ศ.2547 นายทะเบียนท้องที่ ควรให้ความสำคัญในการควบคุมการจำหน่ายช่วงเทศกาลดังกล่าว และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ค้าผู้ผลิตพลุดอกไม้ไฟ รวมถึงประชาชนทราบว่าจะต้องมีการขออนุญาตค้าและผลิตให้ถูกต้อง หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน และดอกไม้เพลิง มีโทษจำคุก 1 เดือนปรับไม่เกิน 1000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีเล่นพลุดอกไม้ไฟที่สร้างความเสียหายให้กับผู้อื่นจะมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรมควบคุมโรคได้ออกมาตรการในการป้องกันการบาดเจ็บดังกล่าว 2 มาตรการ คือ มาตรการการป้องกันในกลุ่มเด็ก ได้แก่ 1. ห้ามให้เด็กๆ จุดประทัด พลุ และดอกไม้ไฟ เองโดยเด็ดขาด 2. ไม่ควรให้เด็กอยู่ใกล้บริเวณที่จุดประทัด ดอกไม้ไฟ หรือพลุ 3. ผู้ปกครองและโรงเรียนควรสอนให้เด็กรู้ว่าประทัด พลุ หรือดอกไม้ไฟ ไม่ใช่ของเล่นแต่เป็นสิ่งที่อันตรายสำหรับเด็ก เช่น ถ้าสะเก็ดเข้าตาจะทำให้ตาบอดได้หรืออาจทำให้นิ้วขาดกลายเป็นคนพิการ 4. ผู้ปกครองควรสอนไม่ให้เด็กไปเก็บประทัด พลุ หรือดอกไม้ไฟ ที่จุดแล้วไม่ระเบิดมาเล่น เพราะประทัดพลุและดอกไม้ไฟนั้นอาจระเบิดโดยไม่คาดคิด 5. ผู้ปกครองควรดูแลและคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วงเทศกาลวันออกพรรษา 6. เด็กต้องได้รับการฝึกทักษะการหนีเมื่อเผชิญสถานการณ์อันตราย และมาตรการการป้องกันในผู้ใหญ่ ได้แก่ 1. หลีกเลี่ยงการเล่นประทัด พลุ และดอกไม้ไฟ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก 2. ก่อนเล่นประทัด พลุ และดอกไม้ไฟ ควรอ่านฉลาก คำแนะนำ วิธีการใช้ และคำเตือนก่อนเล่น 3. เล่นในที่โล่ง ราบ ห่างไกล จากบ้านเรือน ใบไม้แห้ง และวัตถุไวไฟ 4. ก่อนจะจุดประทัด พลุ หรือดอกไม้ไฟ ควรที่จะมองดูรอบข้างให้ดี ต้องมั่นใจว่าไม่มีผู้ใดอยู่ในบริเวณนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้อื่น 5. อย่าให้ใบหน้าของท่าน อยู่เหนือพลุและดอกไม้ไฟ เพราะมันอาจระเบิดหรือพุ่งเข้าสู่ใบหน้าท่านได้ตลอดเวลา 6. ห้ามเล่นประทัด พลุ และดอกไม้ไฟ ที่ซื้อจากร้านค้าที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ สินค้าอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ เก่า และไม่มีฉลากภาษาไทยที่ถูกต้องชัดเจน 7. ห้ามจุดประทัด พลุ และดอกไม้ไฟที่เสื่อมสภาพหรือดอกไม้ไฟที่ถูกจุดแล้วแต่ยังไม่ระเบิด (ไม่ทำงาน) เพราะประทัดพลุและดอกไม้ไฟนั้นอาจระเบิดโดยไม่คาดคิด 8. ก่อนจุดประทัด พลุ และดอกไม้ไฟ ควรเตรียมถังใส่น้ำ 1 ถัง ไว้ใกล้บริเวณที่จะจุดพลุหรือดอกไม้ไฟ เผื่อไว้ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ดับเพลิง หรือดอกไม้ไฟ พลุ ที่จุดแล้วไม่ระเบิด 9. ห้ามเข้าใกล้ดอกไม้ไฟที่ถูกจุดแล้วหรือดอกไม้เพลิงที่ยังดับไม่สนิท 10. ห้ามจุดประทัด พลุหรือดอกไม้ไฟ หากไม่อยู่ในระยะที่ปลอดภัย คือ 1 เมตร หรือ 1 ช่วงแขน 11. ห้ามประกอบหรือดัดแปลงประทัด พลุ หรือดอกไม้ไฟไว้เล่นเองโดยเด็ดขาด 12. ห้ามเก็บประทัด พลุ และดอกไม้ไฟไว้ในบ้าน หากต้องเก็บควรเก็บในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดฝามิดชิด สถานที่เก็บควรเป็นที่แห้งและมีอากาศเย็น และ 13. หลีกเลี่ยงการดื่มสุราแล้วมาเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ "ทั้งนี้ประชาชนควรรู้จักวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการสื่อสารกับหน่วยฉุกเฉินทางการแพทย์(1669) รวมทั้ง วิธีการส่งต่อเด็กในภาวะฉุกเฉินไปยังสถานพยาบาลใกล้เคียง เพื่อลดการบาดเจ็บรุนแรง ความพิการ และการเสียชีวิต ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคไม่ติดต่อ โทร 02-951-0042 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422" นายแพทย์โสภณ กล่าวปิดท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ