สกย. เปิดรับคำขอทุนสงเคราะห์ปลูกแทนจากเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ เผย ล่าสุด ชาวสวนยางกว่า 6 พันราย ยื่นขอโค่นยาง

ข่าวทั่วไป Wednesday November 5, 2014 15:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--สกย. ทีมข่าววอร์รูม สกย. เผยตัวเลข การยื่นคำขอรับสงเคราะห์ปลูกแทนจากเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ล่าสุด ณ เดือนตุลาคม 2557 มีเจ้าของสวนยางจำนวน 6,866 ราย จากทั่วประเทศ ยื่นคำขอรับทุนสงเคราะห์ปลูกแทน คิดเป็นพื้นที่โค่นยางเก่า ประมาณ 79,164 ไร่ นายทวีศักดิ์ คงแย้ม ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบของ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (วอร์รูม สกย.) กล่าวว่า โครงการควบคุมปริมาณการผลิต เป็นหนึ่งใน โครงการสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อจะเพิ่มอุปทานของปริมาณยางพารา ให้มีความต้องการของตลาดในประเทศเพิ่มมากขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สกย. มีนโยบายในการส่งเสริมการโค่นยางเก่าหรือต้นยางที่ให้ผลผลิตต่ำทุกปี แต่สำหรับปีนี้ สกย.ได้เพิ่มเป้าหมายในการส่งเสริมการปลูกแทนเป็น 400,000 ไร่ ภายในระยะเวลา 7 ปี (ปี 2558 - 2560) เพราะฉะนั้น ในแต่ละปีจะสามารถลดปริมาณผลผลิตยางในตลาดลงปีละ 101,600 ตัน และที่สำคัญ ในจำนวนพื้นที่โค่นยางเก่า จะให้การส่งเสริมปลูกแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดี จำนวน 300,000 ไร่ต่อปี ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมในโครงการดังกล่าว สกย.จะให้ความรู้ในการปลูกแทนแบบเกษตรผสมผสานด้วยการทำกิจกรรมทางการเกษตรควบคู่กับการปลูกยางเป็น เช่น พืชผักสวนครัว หรือพืชอื่น หรือการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกในการทำการเกษตรควบคู่กับการให้ความรู้เรื่องการปลูกยางพารา เพื่อให้เกษตรกรสามารถมีรายได้เลี้ยงครอบครัวอย่างต่อเนื่อง และสำหรับอีก 100,000 ไร่ จะเป็นการให้ทุนสงเคราะห์แก่เกษตรกรที่จะปลูกพืชอื่นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและเหมาะสมกับพื้นที่ โดยคำนึงถึงเรื่องตลาดในพื้นที่นั้นๆ ให้แก่เกษตรกรด้วย ทั้งนี้ เมื่อเปิดปีงบประมาณใหม่ 2558 มีเจ้าของสวนยางจำนวน 6,866 ราย จากทั่วประเทศ ยื่นคำขอรับทุนสงเคราะห์ปลูกแทน คิดเป็นพื้นที่โค่นยางเก่า ประมาณ 79,164 ไร่ โดยส่วนมาก จะเป็นพื้นที่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และ นครศรีธรรมราช ที่มีการยื่นรับคำขอมากที่สุดในขณะนี้ และคาดว่า ก่อนจะถึงฤดูกาลปลูกยางพารารอบใหม่ น่าจะมีเกษตรกรยื่นรับคำขอปลูกแทนใหม่ เกินกว่าเป้าหมายที่ สกย.กำหนดไว้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ