กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี
สคร.7 เฝ้าระวังโรค "มือ เท้า ปาก" หวั่นช่วงอากาศเย็นลง โรคอาจระบาดได้ ขอความร่วมมือศูนย์เด็กเล็ก สถานเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาลทุกแห่ง เข้มงวดเรื่องความสะอาดสถานที่ เครื่องใช้และของเล่น ครูพี่เลี้ยงต้องตรวจคัดกรองสุขภาพเด็กทุกเช้า
นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี (สคร.7) กล่าวถึงสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ว่า ขณะนี้กำลังเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว หลายพื้นที่ อากาศเย็นและชื้น เหมาะแก่การระบาดของเชื้อโรคชนิดนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มไวรัสที่อยู่ในลำไส้ เรียกว่า เอ็นเทอโรไวรัส จากการประเมินสถานการณ์โรคปี 2557 นี้ พบผู้ป่วยตั้งแต่ต้นปี มีแนวโน้มมากขึ้นตั้งแต่เดือน พฤษภาคมเป็นต้นมา จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม – 25 ตุลาคม 2557 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยทั้งหมด 58,572 ราย เสียชีวิต 2 ราย ส่วนในพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 4,605 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุ0–4 ปี โดยสถานที่ที่พบมาก ได้แก่ ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล
นพ.ศรายุธ กล่าวต่อว่า โรคนี้มักเกิดในเด็กที่อยู่รวมกันมากๆ ซึ่งช่วงนี้โรงเรียนเริ่มเปิดเทอม จึงเสี่ยงต่อการระบาดของโรค จึงขอความร่วมมือจากผู้ปกครอง ครูพี่เลี้ยงเด็ก ให้เข้มงวดเฝ้าระวังและป้องกันโรคนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียน ให้ดูแลหลักสุขอนามัยให้ถูกต้อง คือ กินร้อน ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ ของเล่นเด็กต่างๆ ให้ครูช่วยตรวจสุขภาพเด็กนักเรียนทุกเช้า เพื่อดูความผิดปกติเบื้องต้น หากพบว่าเด็กมีไข้ หรือพบตุ่มใสขึ้นที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า หรือตุ่มในปาก ในกระพุ้งแก้ม ให้แยกเด็กออกจากเด็กปกติ และแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน และควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาดได้อย่างทันท่วงที
โดยเชื้อโรคชนิดนี้จะอยู่ที่ลำไส้ และขับออกมาพร้อมกับอุจจาระ อาเจียน หรือน้ำลายของผู้ป่วย เด็กที่ติดเชื้อโรคมือ เท้า ปาก จะมีไข้ 1-2 วัน จากนั้นจะมีตุ่ม หรือแผลในปากคล้ายแผลร้อนใน ส่วนใหญ่จะพบที่บริเวณคอหอย หรือใกล้ต่อมทอนซิล ทำให้เด็กเจ็บในปากและคอ ไม่ยอมดูดนม กินอาหารไม่ได้ ส่วนใหญ่เด็กที่ป่วยอาการจะค่อยดีขึ้นเรื่อยๆ และหายได้เองใน 7 วัน มีจำนวนน้อยมากที่มีอาการรุนแรง คือ มีไข้สูง อาจมีอาการชัก แขนขาอ่อนแรง โรคนี้ไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้การดูแลรักษาตามอาการ เช่น ลดไข้ด้วยยา ทายาแก้ปวด รับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้ม ไอศกรีม หากมีอาการรุนแรง ซึมลง หายใจหอบ ควรนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
ขณะเดียวกัน เมื่อมีเด็กป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ขอให้แยกของใช้ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ ช้อนส้อม หลอดดูดน้ำ และทำความสะอาดพื้นห้อง หรือพื้นที่ที่เด็กสัมผัสบ่อยๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ด้วยน้ำผสมผงซักฟอก ที่มีส่วนผสมของคลอรีน เช่น ไฮเตอร์ แล้วล้างซ้ำด้วยน้ำสะอาด หากเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่มีการนำเข้าปากให้ล้างด้วยน้ำและสบู่ และนำไปตากแดด หากประชาชนมีข้อสงสัยถึงอาการของโรคหรือวิธีปฏิบัติ สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร.1422. นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย