กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRR พร้อมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 6 พ.ย.นี้เป็นวันแรก มั่นใจนักลงทุนให้การตอบรับที่ดี หลังมั่นใจในศักยภาพของบริษัทฯ ดันความต้องการจองซื้อหุ้น IPO ในราคา 6.80 บาทพุ่ง ด้านผู้บริหาร BRR ลั่นเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจน้ำตาลทราย พร้อมนำผลพลอยได้ต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนเต็มตัว หนุนผลการดำเนินงานเติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่อง ขณะที่ บล.เคที ซีมิโก้ ที่ปรึกษาทางการเงิน ชี้ทิศทางราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แถมมีปัจจัยหนุนจากธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งที่ 2 ที่คาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ต้นปีหน้า ดันการเติบโต
นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาวสีรำส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทราย เช่น กากอ้อย และกากหม้อกรองไปต่อยอดทางธุรกิจสู่พลังงานทดแทน เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้นำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นวันแรกในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 โดยใช้ชื่อย่อการซื้อขายว่า ‘BRR’ หลังการเสนอขาย IPO จำนวน 169,182,500 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1 บาท ในราคาจองซื้อหุ้นละ 6.80 บาท ระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยมั่นใจว่า หุ้น BRR จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนอย่างแน่นอน
สำหรับ บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ ถือเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่า 50 ปี โดยดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายทั้งในและต่างประเทศและนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลไปต่อสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน จึงได้ให้ความสำคัญคุณภาพผลผลิตอ้อย ผ่านการส่งเสริมพัฒนาให้ความรู้ชาวไร่อ้อย การคัดเลือกพันธุ์อ้อยและปุ๋ยที่เหมาะสมต่อพื้นที่ ตลอดจนนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยจัดการแปลงเพาะปลูก ตามปรัชญา‘น้ำตาลสร้างในไร่’ ส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยเพิ่มขึ้นจาก 105 กิโลกรัมเป็น 118 กิโลกรัม นับเป็นผลผลิตที่สูงเป็นอันดับ 2 ของอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทย เมื่อเปรียบเทียบเป็นค่าเฉลี่ยของโรงงานในแต่ละกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลทราย
ทั้งนี้ ในฤดูการผลิตปี 56/57 ที่ผ่านมา มีผลผลิตอ้อยเข้าหีบ 1.77 ล้านตันอ้อย ผลิตเป็นน้ำตาลทรายส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 208,800 ตัน และในฤดูการหีบอ้อยปี 57/58 นี้โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์สามารถรองรับผลผลิตเข้าหีบได้สูงสุดเป็น 2 หมื่นตันต่อวัน หรือคิดเป็นปริมาณอ้อย 2 ล้านตันเศษ ซึ่งส่งผลดีต่อการผลิตน้ำตาลทรายได้เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังนำผลพลอยได้มาต่อยอดสร้างมูลค่าสูงสุดให้แก่ธุรกิจ โดยต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลจากกากอ้อยแห่งที่ 2 กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ให้ กฟภ. ได้ในช่วงต้นปี 2558 จากเดิมที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลจากกากอ้อยอยู่แล้ว 1 แห่ง กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ ที่เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ไปแล้วตั้งแต่พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา
“เรามีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายที่แข็งแกร่ง ที่มีกำลังการผลิตน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น และนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดในธุรกิจพลังงานทดแทน ด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวลจากกากอ้อย รวมถึงยังได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนประเภทอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งเราเชื่อว่า ด้วยแนวทางการดำเนินธุรกิจของน้ำตาลบุรีรัมย์นี้ จะทำให้เราสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต” นายอนันต์ กล่าว
สำหรับเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งบริษัทฯ จะนำเงินไปลงทุนในโครงการขยายกำลังการผลิตน้ำตาลทราย และลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ส่วนที่เหลือจะนำเงินไปชำระเงินกู้เพื่อลดต้นทุนทางการเงินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัทฯ
นายคมกฤต มีคำสัตย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า แนวโน้มราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในปีนี้ทำให้ธุรกิจน้ำตาลมีความเสี่ยงต่ำ จากปัจจัยที่ประเทศบราซิล ในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลน้ำตาลทรายอันดับ 1 ของโลก มีแนวโน้มนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลมากขึ้น ทำให้อุปทานของน้ำตาลในตลาดโลกลดลง ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อ บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ ที่สามารถสร้างผลการดำเนินงานจากธุรกิจน้ำตาลทรายได้มากยิ่งขึ้น
ส่วนกลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทนของ บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ นั้น จะมาเป็นปัจจัยหนุนต่อให้ผลการดำเนินงานเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต หลังจากโรงไฟฟ้าชีวมวลจากกากอ้อยแห่งที่ 2 กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จและเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ในช่วงต้นปี 2558 จากเดิมที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลจากกากอ้อยอยู่แล้ว 1 แห่ง กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ ที่เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ไปแล้วตั้งแต่พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา
สำหรับธุรกิจปุ๋ย ที่เกิดจากการนำกากหม้อกรองไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 30,000 ตันต่อปี ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ปุ๋ยตรากุญแจ จำกัด จะเป็นอีกธุรกิจที่ช่วยเสริมรายได้ของ BRR ให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลพลอยได้ที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาลให้แก่ BRR ได้มากขึ้น