กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--NBTC Rights
ผู้บริโภค 3G อกหักยกแถว เหตุร้องเรียนเรื่องค่าบริการไม่ได้ลด 15 เปอร์เซ็นต์จริงตามสัญญา แต่บอร์ดโทรคมนาคม (กทค) กลับชี้บริการอินเทอร์เน็ตที่ค่ายมือถือเพิ่มให้ เมื่อคำนวณแล้วเท่ากับลด 15 เปอร์เซ็นต์ ด้าน “หมอลี่” กรรมการเสียงข้างน้อยระบุ บริการที่เพิ่มเป็นการเพิ่มแค่ชั่วคราว จึงไม่ควรนำมาคำนวณเป็นค่าบริการที่ลดลง พร้อมแนะสำนักงาน กสทช. หันมากำกับเพดานราคาให้ได้ตามกฎหมาย
วานนี้ (5 พ.ย. 2557) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้พิจารณากรณีผู้บริโภค 8 ราย ร้องเรียนว่าประสบปัญหาผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G ไม่ได้ลดอัตราค่าบริการลง 15 เปอร์เซ็นต์ ตามที่ กทค. เคยมีมติไว้เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2556 ในเรื่องแนวทางในการกำกับดูแลค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz โดยภายหลังจากที่เปลี่ยนการใช้บริการจากระบบ 2G มาเป็น 3G ยังคงต้องจ่ายค่าบริการรายเดือนในอัตราเท่าเดิม
ทั้งนี้ แนวทางในการกำกับดูแลค่าบริการดังกล่าวกำหนดว่า ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz นำรายการส่งเสริมการขายเดิมมาให้บริการ จะต้องปรับลดอัตราค่าบริการลงไม่น้อยกว่า 15 เปอร์เซ็นต์จากอัตราค่าบริการเดิม ส่วนกรณีที่เป็นรายการส่งเสริมการขายใหม่ ต้องกำหนดอัตราค่าบริการลดลงไม่น้อยกว่า 15 เปอร์เซ็นต์เมื่อเปรียบเทียบกับค่าบริการที่มีอยู่ในท้องตลาด ณ วันที่ผู้ให้บริการได้รับใบอนุญาต ซึ่งในกรณีของผู้ร้องเรียนทั้ง 8 ราย พบว่า เป็นการย้ายบริการจากระบบ 2G มาเป็น 3G โดยไม่ได้มีการแจ้งขอเปลี่ยนแปลงรายการส่งเสริมการขาย แต่ผู้ให้บริการได้ให้สิทธิพิเศษในการใช้บริการอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติม ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุม กทค. จึงมีมติว่า รายการส่งเสริมการขายที่ผู้ร้องเรียนใช้เป็นรายการส่งเสริมการขายใหม่ และเมื่อนำไปคำนวณเปรียบเทียบกับค่าบริการเฉลี่ยที่มีอยู่ในท้องตลาด ก็พบว่าผู้ให้บริการได้ลดค่าบริการลงไม่น้อยกว่า 15 เปอร์เซ็นต์แล้ว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในระหว่างการดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ได้เคยมีมติว่า การที่ผู้ให้บริการเพิ่มสิทธิพิเศษเอง โดยที่ผู้ใช้บริการไม่ได้ขอเปลี่ยน ไม่ถือเป็นเหตุว่าเป็นรายการส่งเสริมการขายใหม่ ดังนั้นค่ายมือถือที่เป็นผู้ให้บริการจะต้องลดค่าบริการลงอย่างน้อย 15 เปอร์เซ็นต์จากอัตราค่าบริการรายเดือนเดิมที่เคยเรียกเก็บกับผู้ใช้บริการ
ด้าน นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นกรรมการเสียงข้างน้อยในที่ประชุม ตั้งข้อผิดสังเกตจากหลักฐานข้อเท็จจริงในใบเรียกเก็บค่าบริการว่า ผู้ให้บริการมีการเพิ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ต 100 เมกะไบต์ นาน 12 รอบบิลให้กับผู้ใช้บริการ แต่ไม่ใช่การเพิ่มบริการให้อย่างถาวรหรือตามระยะเวลาโปรโมชั่น เป็นเพียงเพิ่มบริการให้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น จึงไม่อาจตีความว่าบริการส่วนที่เพิ่มนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโปรโมชั่น ดังนั้นไม่ควรกล่าวอ้างว่าเป็นโปรโมชั่นใหม่ และนำบริการที่เพิ่มเติมมาคำนวณว่าเป็นค่าบริการที่ลดลง ซึ่งประเด็นนี้ก็ได้โต้แย้งในที่ประชุมแล้ว
“ที่ผ่านมามีการถกเถียงกันในสังคมมาโดยตลอดว่า ค่าบริการ 3G ลดลง 15 เปอร์เซ็นต์จริงหรือไม่ ซึ่งสำนักงาน กสทช. อ้างว่าได้กำกับค่าบริการให้ลดลงอย่างน้อย 15 เปอร์เซ็นต์แล้ว โดยคำนวณจากอัตราค่าบริการทั้งหมดที่มีให้บริการอยู่ในตลาด ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่มีการให้ใบอนุญาตใช้คลื่นแก่ผู้ให้บริการ ในขณะที่ผู้บริโภคทั่วไปกลับรู้สึกว่าไม่ได้ใช้บริการถูกลงแต่อย่างใด เนื่องจากบริการหลายอย่างที่กำหนดมาให้ในแพ็กเกจเป็นบริการที่ผู้บริโภคไม่ได้ใช้ ผมเห็นว่าสำนักงาน กสทช. ควรเลิกอ้างได้แล้วว่าผู้บริโภคได้ใช้บริการ 3G ถูกลง 15 เปอร์เซ็นต์ แต่หันมาใช้วิธีการกำกับอัตราขั้นสูงของค่าบริการ ซึ่งคำนวณลด 15 เปอร์เซ็นต์จากราคาเฉลี่ยของค่าบริการในตลาดแล้ว โดยหากเป็นโปรโมชั่นใหม่ ค่าโทรในระบบ 3G ต้องไม่เกิน 0.82 บาทต่อนาที ค่าเอสเอ็มเอสต้องไม่เกิน 1.33 บาทต่อข้อความ ส่วนค่าอินเทอร์เน็ตต่อเมกะไบต์ต้องไม่เกิน 0.28 บาท ส่วนถ้าเป็นโปรโมชั่นเก่าที่สมัครไว้แต่เดิม ก็ชัดเจนว่าผู้บริโภคต้องจ่ายถูกลง 15 เปอร์เซ็นต์ ผมคิดว่าวิธีการกำกับค่าบริการในลักษณะนี้เป็นวิธีกำกับราคาที่ตรงไปตรงมา และทำให้ผู้บริโภคได้ใช้บริการที่ถูกลงจริง” นายประวิทย์กล่าว