กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--คอร์แอนด์พีค
ชายไทยเตรียมมีความสุข ลดอัตราการตัดชิ้นเนื้อ เพียงแค่ใช้ชุดน้ำยาตรวจเลือดเพื่อคัดกรองผู้มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ ประธานฝ่ายวิชาการสมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ในปัจจุบันพบว่าชายไทยที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้น เนื่องจากโรคดังกล่าวไม่มีการแสดงอาการให้เห็นในระยะแรกเริ่ม แต่อาการของโรคยังคล้ายคลึง หรือแทรกอยู่ในอาการของโรคต่อมลูกหมากโตธรรมดาด้วย ส่งผลให้ทั้งผู้ป่วยละเลย คิดว่าเป็นอาการธรรมดาของโรคผู้สูงอายุ เมื่อปล่อยเวลาล่วงเลยไปเรื่อยๆ ทำให้ลุกลามแพร่กระจายไป
ยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ไต ตับ ปอด หรือกระดูกจนยากที่จะรักษาเยียวยาและเสียชีวิตในที่สุด ทั้งนี้ทุก ๆ ปี จะมีผู้ป่วยเพศชาย ป่วยด้วยโรคมะเร็งชนิดนี้เพิ่มสูงขึ้นจนปัจจุบันสูงเป็นอันดับ 4 ของโรคมะเร็งทั่วไป เนื่องจากไม่มีการตรวจและรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม มีการกล่าวว่า การคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ป่วยมะเร็งเริ่มแรกมีผลให้อัตราการเสียชีวิตจากภาวะนี้ลดลงร้อยละ21 และสามารถลดมะเร็งต่อมลูกหมากระยะลุกลามขณะวินิจฉัยได้ โดยมีการศึกษาที่สนับสนุนเช่น การศึกษา Goteborg Screening Trial พบว่า ในการติดตามผล 10 ปี การคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากสามารถลดผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ในระยะลุกลามได้ร้อยละ 48.9
สำหรับในวงการแพทย์ในปัจจุบัน มีการค้นคว้าวิจัยในการพัฒนาเครื่องมือในการตรวจคัดกรองผู้ชายที่มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ง่ายขึ้นหลากหลายวิธี จากวิธีดั้งเดิมที่ใช้วิธีตรวจ PSA ซึ่งจะเป็นสารเคมีที่พบในเลือด เพื่อบ่งถึงความผิดปกติของต่อมลูกหมากร่วมกับวิธีการตรวจโดยสวมถุงมือคลำต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก (Digital rectal examination, DRE) แม้จะไม่เจ็บปวดแต่จะรู้สึกไม่สบายนัก หากพบความผิดปกติเบื้องต้นจะต้องทำการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก (biopsy) มาตรวจเพิ่มเติม
“การตรวจคัดกรองปกติจะใช้วิธีการเจาะเลือดเพื่อหาค่า PSA แบบธรรมดา แต่เมื่อพบว่าผู้มีความเสี่ยงมีค่าPSA อยู่ระหว่าง 4.0 ng/mL ถึง 10 ng/mL ทำให้ต้องมีการตัดสินใจทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยการตัดชิ้นเนื้อ แต่ในปัจจุบัน การตรวจด้วย Prostate Health Index : phi ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในการคัดกรองผู้ป่วยที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการเปิดเผยในครั้งนี้ โดยการคัดกรองผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น หากผู้ป่วยได้ผลการตรวจ phi ในเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลางต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องถูกตัดชิ้นเนื้อ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ทำให้มีเลือดออกมาก หรือเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดและทำให้ผู้ป่วยเสียค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น รวมถึงทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการตรวจและการรักษา และระยะเวลาในการนัดแพทย์เพื่อตรวจในลักษณะของการตัดชิ้นเนื้อเพื่อสุ่มตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากอีกต่อไป” ศ.นพ.บรรณกิจ กล่าว
ศ.นพ.บรรณกิจ กล่าวต่อว่า ชายวัยทองควรหมั่นสังเกตและเอาใจใส่ดูแลอาการผิดปกติกับต่อมลูกหมากของตัวเองหากมีความผิดปกติเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อย ปัสสาวะลำบากต้องเบ่งปัสสาวะไม่ค่อยหมด กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้ ปวดเวลาปัสสาวะหรือมีเลือดปนออกมา รวมทั้งไม่มีแรง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดหลัง ปวดกระดูก ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง เพราะมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ถ้าตรวจพบระยะเริ่มแรก โดยในปัจจุบันมะเร็งต่อมลูกหมาก มักตรวจพบในระยะรุนแรงหรือมีการลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น กระดูก ลำไส้ หรือระบบทางเดินอาหารแล้ว จึงอยากสร้างความตระหนักในพิษภัยใกล้ตัวของโรคร้ายชนิดนี้เพื่อที่จะช่วยลดอัตราการตายและอุบัติการณ์ของโรคลงได้มากขึ้น เพื่อไม่ให้ได้ลุกลามรวดเร็วเหมือนกรณีของมะเร็งชนิดอื่น ๆ เช่น มะเร็งตับหรือปอด และหากตรวจพบในระยะที่ 3 แล 4 ก็ไม่อาจรักษาให้หายได้แล้ว เพียงแต่ประคับประคองให้คงคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป โดยจะแบ่งวิธีการ
รักษาเป็น 2 แนวทางตามความรุนแรงของโรค คือ 1. การรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ 1-2 ขณะที่มะเร็งยังอยู่เฉพาะที่ สามารถรักษาให้หายขาดได้หลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทั้งหมดแบบเปิดหน้าท้อง การฝังแร่รังสี การผ่าตัดโดยใช้กล้องหรือหุ่นยนต์ และ 2. การรักษาผู้ป่วยในระยะที่ 3-4 ซึ่งเป็นระยะที่มะเร็งลุกลามแพร่กระจายไปยังกระดูก อวัยวะอื่นๆ และต่อมน้ำเหลืองแล้วนั้น การรักษาทำได้เพียงช่วยลดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งจะมียาบางชนิดที่ใช้ฉีดที่ช่วยประคับประคองรักษาโรคนี้ได้ ยิ่งในระยะที่ 4 การรักษาจะมุ่งแค่ประคับประคองได้ด้วยยา โดยจะควบคุมโรคได้ 2-3 ปีก่อนผู้ป่วยจะเข้าสู่มะเร็งระยะสุดท้าย ส่วนการรักษาจะใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศชายหรือผ่าตัดอัณฑะออกทั้งสองข้าง
ศ.นพ.บรรณกิจ อธิบายว่า การเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากจะเกิดจากการเจริญเติบโตและแบ่งตัวของเซลล์ต่อมลูกหมากรวดเร็วผิดปกติ ทำให้ไปอุดตันในท่อปัสสาวะ หรือทำลายเซลล์ปกติจำนวนมาก โดยระยะแรก ๆ ก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็กจะไม่ไปรบกวนอวัยวะอื่น ผู้ป่วยจึงไม่แสดงอาการภายนอกให้เห็น กระทั่งเมื่อก้อนมะเร็งเริ่มโตขึ้น จนลุกลามไปอุดท่อปัสสาวะในระยะท้าย ๆ เซลล์มะเร็งจะกระจายไปยังกระดูกทั่วร่างกาย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดกระดูก ข้อ หลัง น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาการปัสสาวะขัด ปวดเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะถี่ขึ้น และมีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ กระทั่งอาจลุกลามไปทำลายอวัยวะอื่น ๆ
เช่น ไต ตับ ปอด กระดูก อาการเหล่านี้จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ บางรายอาจถึงขั้นเป็นอัมพาต อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ลดอาหารมัน ควบคุมคลอเรสเตอรอล หันมากินอาหารไทยที่อุดมด้วยพืชผักผลไม้ที่มีไลโคปีน เช่น แตงโม มะเขือเทศสุก รวมถึงพืชผักตระกูลกะหล่ำ ผลิตภัณฑ์จากเต้าหู้และถั่วเหลือง จะช่วยยับยั้งโอกาสป่วยด้วยมะเร็งต่อมลูกหมากได้