อเมซิ่งไทยแลนด์...ปลอดกาฬโรค

ข่าวทั่วไป Tuesday May 26, 1998 16:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--26 พ.ค.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เฝ้าระวังกาฬโรคในพื้นที่ชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการระบาดของกาฬโรค โดยศึกษาเชื้อกาฬโรคในหนูและสุนัขในจังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดกาฬโรคตามแนวชายแดนไทย พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ผลการทดสอบซีรั่มหนู 977 ตัวอย่าง และซีรั่มสุนัข 405 ตัวอย่าง ปรากฏว่า ไม่พบแอนติบอดีต่อเชื้อกาฬโรคในตัวอย่างทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยปราศจากกาฬโรคแน่นอน
ดร.เรณู โกยสุโข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการระบาดของกาฬโรคในประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ.2537 ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศอินเดียเป็นอย่างมาก ทำให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียเกิดความตื่นตัวในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของกาฬโรค สำหรับประเทศไทยปลอดกาฬโรคมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2495 อย่างไรก็ตามกาฬโรคยังคงเป็นโรคที่มีความสำคัญมากในกลุ่มโรคระบาดที่กลับมาเป็นปัญหาใหม่ ประกอบกับโลกปัจจุบันเป็นโลกที่ไร้พรมแดน การแพร่กระจายของโรคติดต่อต่าง ๆ จึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้จัดทำโครงการเฝ้าระวังกาฬโรคใน 18 จังหวัดชายแดนที่มีอาณาเขตติดต่อกับพม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย รวมทั้งชุมชนท่าเรือคลองเตยในกรุงเทพ เพื่อศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับชนิดและความซุกซนของหนู จำนวนหมัดหนูที่อาศัยบนตัวหนูเพื่อคำนวณหาค่าดัชนีหมัดหนู ตลอดจนตรวจเลือดหนู และสุนัขเพื่อหาเชื้อกาฬโรค
ผลจากการศึกษาพบว่า สามารถดักจับหนูได้ 1,104 ตัว จากการวางกรงดักหนู 5,130 กรง (เฉลี่ยร้อยละ 21.5) โดยทั่วไปพบหนู 5 ชนิด คือ หนูจิ๊ด หนูท้องขาว หนูท่อ หนูพุกใหญ่ และหนูผี ซึ่ง 3 ชนิดแรก น่าจะเป็นปัญหาเพราะมีความชุกชุมค่อนข้างสูง ซึ่งชนิดและความชุกชุมของหนูแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหาร นอกจากนี้ ผลจากการทดสอบซีรัมหรือกระดาษกรองชุบเลือดที่เก็บได้จากหนู จำนวน 977 ตัวอย่าง และสุนัข จำนวน 405 ตัวอย่าง โดยห้องปฏิบัติการของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และห้องปฏิบัติการของศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก ณ ศูนย์โรคติดต่อเมืองแอตแลนต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ห้องปฏิบัติการทั้งสองแห่งให้ผลการทดสอบตรงกัน คือ ไม่พบซีรั่มที่มีผลบวกต่อเชื้อกาฬโรคในตัวอย่างทั้งหมด แสดงว่าในขณะนี้ประเทศไทยปลอดจากกาฬโรค
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ว่าผลการทดสอบซีรั่มดังกล่าวจะให้ผลลบทั้งหมด แต่จากการสำรวจชนิดและจำนวนหมัดหนูที่อาศัยอยู่บนตัวหนูในแต่ละจังหวัด เพื่อหาค่าดัชนีหมัดหนู (Flea index) ปรากฏว่า พบหมัดหนูเขตร้อน (Xenopsylla cheopis) ซึ่งเป็นพาหะนำกาฬโรคได้ ค่าดัชนีหมัดหนูที่มีพบมีค่าสูงกว่า เท่ากับ หรือใกล้เคียง 1 มีจำนวนถึง 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา หนองคาย นราธิวาส ระนอง และเชียงราย ซึ่งค่าดัชนีหมัดหนูถ้าเกิน 1 แสดงว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดกาฬโรคได้ จึงต้องมีมาตรการควบคุมและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาวิธีการมาตรฐานสำหรับระบบการเฝ้าระวัง โดยการรายงานเมื่อพบหนูตายและรู้จักใช้สารเคมีในบ้านเรือน ตลอดจนรักษาบ้านเรือนและบริเวณโดยรอบให้ถูกสุขลักษณะ เฝ้าระวังคนไข้โรคปอดบวมจากกาฬโรคที่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้โดยตรง และเฝ้าระวังในกรณีที่เกิดภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมหรือการที่มีหนูล้มตายเป็นจำนวนมาก และการเฝ้าระวังจะต้องทำทุก ๆ 2-3 ปี เพื่อให้มั่นใจว่า ประเทศไทยปลอดจากกาฬโรคตลอดไป
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทร. 591-0203-14 ต่อ 9016-17, 9081 โทรสาร 591-1707 มือถือ 01-9047716--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ