กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--ผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
นายวิบูลย์ คูหิรัญ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ระบุต้องเฉลี่ยสัดส่วนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า หากยังใช้ก๊าซในสัดส่วนที่ยังมากเกินไปส่งผลต่อความมั่นคงด้านพลังงาน ไฟฟ้าจะมีราคาแพงกระทบประชาชน
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2557 ที่ผ่านมาในรายการทันสถานการณ์ที่เผยแพร่ทางวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา ได้สัมภาษณ์พิเศษนายวิบูลย์ คูหิรัญ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในเรื่องการปฏิรูปพลังงาน ในประเด็นความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ
นายวิบูลย์ ระบุว่าปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าประมาณ 34,000 เมกะวัตต์ เกือบจะถึง 35,000 เมกะวัตต์ ซึ่งตามมาตรฐานสากลจะต้องกำหนดกำลังไฟสำรองไว้ราวร้อยละ 15 ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุด ส่วนสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชนิดต่างๆ ผลิตไฟฟ้านั้นพบว่าในปัจจุบันไทยใช้ก๊าซธรรมชาติถึงร้อยละ 68 นอกจากนั้นก็เป็น ลิกไนต์ร้อยละ 21 พลังน้ำร้อยละ 6 และพลังงานทดแทนซึ่งน้อยมากคือประมาณร้อยละ 2 โดยการใช้ก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนที่มากเกินไปนี้ถือว่ามีความเสี่ยงสูง
ซึ่งถ้าหากก๊าซที่ไทยซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าและมาเลเซียเกิดปัญหา ความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของไทยเองก็จะหายไปด้วย แม้ว่าทาง ปตท. เองก็ได้เตรียมสร้างโรงแปรรูปก๊าซ LNG ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศโดยการขนส่งทางเรือ แต่กระนั้นก็มีราคาแพง และถ้าหากใช้ก๊าซ LNG เป็นหลักในการผลิตไฟฟ้าค่าไฟก็จะสูงตามด้วย
ส่วนพลังน้ำและพลังงานทดแทนที่เราผลิตเองได้นั้นก็มีสัดส่วนน้อยมาก ซึ่งในเรื่องของพลังงานทดแทนนั้นเราต้องมองด้วยว่าการลงทุนจะต้องสูงซึ่งจะทำให้ค่าไฟสูงขึ้นด้วย ปัจจุบันพบว่าโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนนั้นยังมีกำลังผลิตน้อยประมาณ 1 เมกกะวัตต์ ส่วนโรผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีกำลังผลิตสูงนั้นยังมีน้อย รวมทั้งในบางครั้งการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนยังพบกับความไม่แน่นอน
ทั้งนี้พลังงานทดแทนที่หน้าสนใจก็คือการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งนายวิบูลย์ระบุว่าในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการการพลังงานวุฒิสภา ก็ได้มีการศึกษาเรื่องนี้ โดยหากนำขยะมาผลิตไฟฟ้าได้ ซึ่งมีหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการหมักเป็นก๊าซ หรือการนำเชื้อเพลิงขยะอัดแท่ง (Refuse Derived Fuel : RDF) ก็จะเป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไปด้วย แต่ก่อนที่จะนำมาใช้อย่างจริงจังก็ควรมีการศึกษาก่อน เพราะในการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนนั้นนอกจากจะได้ไฟฟ้าแล้วก็ยังเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศรวมถึงเป็นการสร้างงานด้วย
ในเรื่องของพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินและพลังงานนิวเคลียร์นั้นนายวิบูลย์ระบุว่าประเทศไทยน่าจะหนีไม่พ้น เนื่องจากพลังงานทดแทนนั้นให้กำลังการผลิตไม่มากนัก ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศ โดยการใช้พลังงานจากถ่านหินนั้นประชาชนยังติดกับภาพเก่าๆ ในอดีตที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยสารพิษในกระบวนการผลิตหรือการขนส่ง แต่ในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีเกี่ยวกับถ่านหินมีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้าถึงประชาชนในด้านการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ส่วนในการเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นั้นจะต้องมีการออกพระราชบัญญัติควบคุมในเรื่องการก่อสร้าง การบำรุงรักษา ให้มีมาตรฐานและให้ความเชื่อมั่นกับประชาชนได้ เพราะในขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านของเราก็กำลังเดินหน้าที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์กันแล้ว และโดยสรุปแล้วในเรื่องการปฎิรูปพลังงานของประเทศนั้นนายวิบูลย์ระบุว่าต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งพลังงานหลักและพลังงานทางเลือกควบคู่กันไปไม่ทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่ง
อนึ่งจากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน พบว่ากระทรวงพลังงานมีแนวทางในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ PDP 2013 ฉบับใหม่ เพื่อลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงจากร้อยละ 68 ในปัจจุบันเหลือร้อยละ 45 เป็นการกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง และช่วยสร้างความสมดุลของระบบผลิตไฟฟ้าในระยะยาว ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้า