กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--WWF ประเทศไทย
WWF-ประเทศไทย หรือกองทุนสัตว์ป่าโลก ได้เปิดตัวคู่มือและจัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ Environmental, Social and Governance (ESG) Integration for Banks ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย (The Thai Bankers’ Association) เพื่อนำเสนอวิธีเพื่อธนาคารและสถาบันทางการเงินในการรับมือกับสภาวะเปลี่ยนแปลงและลดปัจจัยความเสี่ยงในการปล่อยกู้ โดยคำนึงถึง 3 ประเด็นสำคัญ คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และ บรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance หรือ ESG)
คู่มือ ESG นี้ได้ถูกเปิดตัวไปแล้วใน 4 ประเทศบนภูมิภาคเอเซียได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย และกำลังจะจัดขึ้นที่ประเทศอินเดียเพื่อช่วยธุรกิจธนาคารในการพัฒนายุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม, สังคม, บรรษัทภิบาลที่ยั่งยืนต่อไป และถือเป็นการแสดงถึงขอบข่ายการทำงานเพื่อให้ธนาคารสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงและเห็นผล เรียกได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สถาบันทางการเงินทั่วทั้งเอเชียกำลังมองหา
“ธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างผลกระทบในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงาน หรือสินเชื่อ เพื่อธุรกิจพลังงานทดแทน สามารถช่วยลดการใช้และการนำเข้าเชื้อเพลิง ตลอดจนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหาโลกร้อน ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชย์เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน” บดินทร์ อูนากูล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานบริหารและดูแลสายงาน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าว
“ปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นปัญหาเร่งด่วน หากเรามองให้ไกล เรามีหลักฐานที่ชัดเจนว่าเราได้ใช้โลกไปมากกว่าทรัพยากรที่มีอยู่ ทำให้เกิดภัยทางธรรมชาติร้ายแรง สัตว์บางชนิดหรือธรรมชาติที่เคยอุดมสมบูรณ์ ก็หายไป ขณะนี้เราเห็นกับตาแล้วว่ามันรุนแรงขึ้น ถ้าพวกเราสถาบันการเงินรวมกัน เราจะมีแรงพลักดันมากพอที่จะส่งเสริมความรู้ให้กับชาวบ้านและลูกค้าเพื่อช่วยกันรักษาสมดุลธรรมชาติ เราอยากเห็นธุรกิจสืบทอดต่อเนื่องอีกเป็นร้อยปี ไม่ใช่แค่ 20 ปีแล้วหายไป ดังนั้นเราในฐานะธุรกิจการธนาคาร ต้องแยกธุรกิจที่ดำเนินการแบบสายตาสั้นและสายตายาวให้ออก ตัวเราเองก็ควรต้องเริ่มมองแบบสายตายาว เพราะทุกคนอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่เราจะสามารถเผชิญและอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ ดร. ธวัชชัย ยงกิตติกุลเลขาธิการ สมาคมธนาคารไทย (The Thai Bankers’ Association) กล่าว
คู่มือ ESG นี้คือเครื่องมือเพื่อช่วยธนาคารในการพัฒนายุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม, สังคม, บรรษัทภิบาล และถือเป็นการแสดงถึงขอบข่ายการทำงานเพื่อให้ธนาคารได้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริงและเห็นผล สิ่งเหล่านี้คือความเชี่ยวชาญที่สถาบันทางการเงินทั่วทั้งเอเชียกำลังมองหาอย่างเร่งด่วน
เบ็น ริดลีย์ หัวหน้าฝ่ายการพัฒนาอย่างยั่งยืนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัทหลักทรัพย์ Credit Suisse ได้ให้ความเห็นว่า “Credit Suisse มีความภูมิใจที่ได้สนับสนุนคู่มือนี้ ซึ่งได้ให้ข้อมูลแก่ธนาคารในภูมิภาคเอเชียเกี่ยวกับความเป็นมา ความรู้ และเป็นเครื่องมือที่จะพัฒนายุทธศาสตร์และแผนการดำเนินการเพื่อผนวกประเด็นสิ่งแวดล้อมและสังคม อันมีความสำคัญในธุรกิจของพวกเขา”
“ธนาคารชั้นนำทั้งในยุโรปและอเมริกาต่างนำการดำเนินงานแบบ ESG เข้ามาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันสามารถช่วยลดและป้องกันผลกระทบจากความเสี่ยงก่อนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้ไม่เคยถูกนึกถึงในธุรกิจธนาคารมาก่อน ทั้งที่มันอาจจะเกิดจากการทำงานแบบปกติของลูกค้า การพิจารณาในเรื่องเหล่านี้จะช่วยให้ธนาคารและสถาบันการเงินลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจลงไปได้มากกว่าเดิม”
เยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการ WWF-ประเทศไทย กล่าว
ซึ่งงานประชุมร่วมในหัวข้อ ESG ครั้งนี้ มีตัวแทนจากภาคธุรกิจการเงินและการธนาคารเข้าร่วมอย่างหลากหลายอาทิเช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารธนชาติ ธนาคารทหารไทย แบงค์ชาติ และ ธนาคารเอชเอสบีซี ภายในงานมีการพูดคุยในประเด็นสำคัญต่างๆเช่น ตลาดเกิดใหม่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม แบะบรรษัทภิบาล ผลกระทบต่อธุรกิจในการปล่อยสินเชื่อและแนวทางแก้ไข ผู้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ยังได้รับฟังถึงกรณีศึกษาตัวอย่างจากในและต่างประเทศ อีกทั้งก่อนการจบสัมมนาได้ลองนำคู่มือมาลองปรับใช้ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับท่านที่สนใจสามารถดาวน์โหลดคู่มือ ESG ฟรีได้ที่
http://d2ouvy59p0dg6k.cloudfront.net/downloads/wwf_environmental_social_governance_banks_guide_report.pdf