กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การหาผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5 – 6 พฤศจิกายน 2557 จากประชาชน ทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความเสียหายจากโครงการ รับจำนำข้าว การหาผู้รับผิดชอบ และความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานต่าง ๆ ในการดำเนินการฟ้องร้องผู้กระทำความผิดจากโครงการรับจำนำข้าว อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นด้วยวิธีแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อมูลค่าความเสียหาย 5 – 7 แสนล้านบาท จากโครงการรับจำนำข้าว พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.05 เชื่อว่าโครงการฯมีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 7 แสนล้านบาท รองลงมา ร้อยละ 35.25 เชื่อว่าโครงการฯ มีมูลค่าความเสียหาย 5 – 7 แสนล้านบาท ร้อยละ 9.35 เชื่อว่าโครงการฯ มีมูลค่าความเสียหายน้อยกว่า 5 แสนล้านบาท ขณะที่ ร้อยละ 6.08 เชื่อว่าโครงการฯ ไม่มีมูลค่าความเสียหาย และ ร้อยละ 9.27 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการดำเนินการของหน่วยงาน องค์กรหรือสถาบันที่เกี่ยวข้อง ในการหาผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.15 ระบุว่า ควรหาผู้รับผิดชอบทั้งทางการเมือง (เช่น การดำเนินการถอดถอนจากตำแหน่งทางการเมือง) และทางอาญา (เช่น การดำเนินการส่งฟ้องศาลบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด) รองลงมา ร้อยละ 23.58 ระบุว่า ควรหาผู้รับผิดชอบทางการเมืองเท่านั้น ร้อยละ 10.63 ระบุว่า ควรหาผู้รับผิดชอบทางอาญาเท่านั้น ร้อยละ 2.72 ระบุว่า ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ ร้อยละ 0.24 ระบุว่า ควรดำเนินคดีตามรูปการณ์ของคดี ผิดก็ว่ากันไปตามผิด และต้องหาผู้ที่กระทำความผิดจริงเท่านั้นมารับผิดชอบ ร้อยละ 1.68 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อความเชื่อมั่นในหน่วยงานต่าง ๆ ในการดำเนินการฟ้องร้องผู้กระทำความผิดจากโครงการรับจำนำข้าว พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.20 เชื่อมั่นในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) รองลงมา ร้อยละ 20.62 เชื่อมั่นในสำนักงานอัยการสูงสุด ร้อยละ 7.99 เชื่อมั่นในทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเท่ากัน ร้อยละ 4.32 เชื่อมั่นในรัฐบาล/คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร้อยละ 2.24 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นในหน่วยงานใดเลย และ ร้อยละ 10.63 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 20.14 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 19.90 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 20.06 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 19.90 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ร้อยละ 19.98 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 55.16 เป็นเพศชาย และ ร้อยละ 44.84 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 6.63 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 33.66 มีอายุ 25 – 39 ปี ร้อยละ 48.14 มีอายุ 40 – 59 ปี และ ร้อยละ 11.57 มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป
ตัวอย่างร้อยละ 93.93 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 5.26 นับถือศาสนาอิสลาม และ ร้อยละ 0.81 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ ตัวอย่างร้อยละ 25.75 สถานภาพโสด ร้อยละ 71.34 สถานภาพสมรสแล้ว และร้อยละ 2.91 สถานภาพหม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 28.00 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 27.68 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 10.23 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 28.08 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และ ร้อยละ 6.01 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ตัวอย่าง ร้อยละ 14.44 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.63 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 22.63 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 18.09 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 14.92 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 13.38 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และ ร้อยละ 2.92 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ตัวอย่าง ร้อยละ 13.03ระบุว่าไม่มีรายได้ ร้อยละ 19.98 มีรายได้ต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 29.82 มีรายได้ต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 10.63 มีรายได้ต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.08 มีรายได้ ต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 7.19 มีรายได้ต่อเดือน มากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และ ร้อยละ 13.27 ไม่ระบุรายได้