กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--กรมประมง
อธิบดีกรมประมง หวั่นอากาศแปรปรวนส่งผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เตือนเกษตรกรระมัดระวัง พร้อมสั่งเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำแนวทางป้องกันแก้ไขแก่เกษตรกร
ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากสภาวะอากาศที่แปรปรวนมีฝนตกหนักสลับกับอากาศร้อน หรือบางพื้นที่เริ่มมีอากาศหนาว ทำให้อุณหภูมิของน้ำในรอบวันแตกต่างกันมาก ส่งผลให้คุณภาพน้ำลดต่ำลง ทั้งทางชีวภาพ กายภาพ และเคมีเกิดการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสุขภาพปลาเป็นอย่างมาก เนื่องจากปลาเป็นสัตว์เลือดเย็น อุณหภูมิของร่างกายเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิของน้ำ ซึ่งในการปรับตัวนี้ จำเป็นต้องนำพลังงานที่ได้จากการเผาผลาญอาหารมาใช้ ทำให้พลังงานที่จะนำไปใช้ในการเจริญเติบโตหรือสร้างระบบภูมิคุ้มกันลดน้อยลง ด้วยเหตุนี้ทำให้ปลาอ่อนแอ ป่วย และติดโรคได้ง่าย ประกอบกับในช่วงปลายของฤดูฝนจะมีฝนตกทิ้งช่วง และมีฝนตกหนัก ซึ่งน้ำฝนจะชะเอาหน้าดิน และพวกปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ขี้เถ้าจากการเผาป่า ที่เป็นพิษต่อปลา ทำให้ปลาตายได้
ทั้งนี้ ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายน น้ำจะมีอุณหภูมิต่ำเป็นเหตุทำให้เชื้อโรคหลายชนิดเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้ดี โดยเฉพาะโรคอียูเอส โรคตัวด่าง และโรคไวรัสเคเอชวี ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรแล้ว โดยเบื้องต้น ขอให้เกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนี้
สำหรับแนวทางในการปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสัตว์น้ำของเกษตรกร มีดังนี้
1. ลดปริมาณอาหารที่จะให้ลง 10 – 15 % เพราะปลากินอาหารน้อยลง หากมีปริมาณอาหารเหลือมากทำให้เกิดก๊าซพิษ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อปลา
2. เสริมวิตามินซีในอาหาร 1-2 % โดยน้ำหนัก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโต การสืบพันธุ์ ความต้านทานโรค การทนทานต่อความเครียด
3. หากมีปลาป่วย ควรแยกออกไปเลี้ยงและรักษาต่างหาก หรือทำลายทิ้ง เนื่องจากปลาที่ป่วยหากตับ ม้าม ไต ถูกทำลายแล้วโอกาสรักษาให้หายป่วยนั้นยาก อีกทั้งยังเป็นสาเหตุให้ปลาที่ยังไม่ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นด้วย
4. ช่วงต้นฤดูหนาวมีโอกาสสูงที่จะมีปรสิตภายนอกมาเกาะตามตัวและเหงือกปลา ดังนั้น ควรมีการป้องกัน เช่น ในกระชังปลาควรใช้ด่างทับทิม 1 ช้อนชา ห่อด้วยผ้าหนาๆ ถ่วงด้วยหิน แช่น้ำลึก ประมาณ 30 เซนติเมตร ผูกตามมุมกระชังหรือด้านเหนือน้ำ เพื่อป้องกันปรสิตภายนอก โดยทำวันละ 3 ครั้ง
5. หากกระชังปลาอยู่ในบริเวณน้ำตื้น ควรย้ายลงไปอยู่ที่บริเวณน้ำลึก ซึ่งจะเป็นการปรับอุณหภูมิของน้ำเพราะอุณหภูมิน้ำลึกจะสูงกว่าน้ำตื้น
6. ในบ่อดิน นำเกลือแกงมาละลายน้ำสาดให้ทั่วบ่อ ประมาณ 20 – 80 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ ปูนขาว ในอัตรา60 – 100 กิโลกรัมต่อไร่
7. หากพบว่าน้ำในบ่อเริ่มเน่าเสีย โดยสังเกตว่ามีก๊าซผุดขึ้นมาจากพื้นบ่อ ให้ใช้เกลือสาดบริเวณดังกล่าว ประมาณ 200 – 300 กิโลกรัมต่อไร่
8. ในสภาวะที่อากาศเย็นทำให้น้ำมีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติ ไม่ควรสูบน้ำออกจากบ่อ และไม่ควรย้ายหรือลำเลียงปลาไปที่อื่นๆ เพราะจะทำให้ปลาเครียดและติดเชื้อโรคได้ง่าย
ดังนั้น เกษตรกรจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น หากพบมีปลาป่วยให้รีบแจ้งสำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์วิจัยฯ หรือสถานีประมงฯ ที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ หรือแจ้งมายังสถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำจืด กรุงเทพฯ โทร.0 2579 4122 / สถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำชายฝั่งสงขลาโทร. 0 7433 5243 ...อธิบดีกรมประมง กล่าว