ชาวประมงกระบี่รวมพลังเรียกร้องขยายพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่แทนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ข่าวทั่วไป Tuesday November 11, 2014 09:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวประมงพร้อมเรือประมงพื้นบ้านหัวโทงกว่า 70 ลำจากตำบลศรีบอยา ตลิ่งชัน ปกาสัย และคลองประสงค์ มุ่งหน้าสู่แนวผืนป่าชายเลนบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่(1) เพื่อกางป้ายผ้าลอยน้ำ ขนาด 17x30 เมตรข้อความ “Protect Krabi” หรือ “ปกป้องกระบี่” พร้อมปล่อยพันธุ์ปูและติดป้ายข้อความรณรงค์ปกป้องป่าชายเลนเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการเรียกร้องขยายพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่แทนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่เป็นศูนย์กลางความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล เป็นที่อาศัยให้กับสัตว์นานาชนิดและทำหน้ารักษาความหลากหลายทางระบบนิเวศวิทยาอย่างมั่นคง นอกจากนี้ยังได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (แรมซาร์ไซต์) (2) กิจกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่ชาวบ้านกว่าร้อยคนที่อาศัยและใช้ประโยชน์รอบพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ได้ร่วมทำการศึกษาวิจัยวิถีชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพชายฝั่งทะเลอันดามันจังหวัดกระบี่ หรือ “งานวิจัยมหาลัยเล”(3) ซึ่งได้มีการนำเสนอรายงานความก้าวหน้าเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา นายสมใจ ณ นคร ตัวแทนชาวบ้านตำบลตลิ่งชัน จังหวัดกระบี่ กล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่และการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติของชาวกระบี่ว่า “ชาวบ้านหากิน ใช้ประโยชน์และอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำมานาน ความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนทำให้มีสัตว์เศรษฐกิจ กุ้ง หอย ปู ปลาตลอดปี รายได้ของชาวบ้านบางวันสูงถึงหลักหมื่นบาท และเมื่อออกทะเลเราสามารถพบแนวหญ้าทะเลตลอดเส้นทางตั้งแต่บ้านคลองรั้ว ศรีบอยา รอบเกาะจำ เกาะปู บ้านติ่งไหร เกาะกลาง เกาะลันตาและเกาะปอมัน เราสามารถพบรอยพะยูนไถกินหญ้าทะเล ฝูงโลมาจะเข้ามาหลบมรสุมในฤดูมรสุมและวาฬที่เข้ามาให้ชาวบ้านได้เห็น พวกเราจึงยืนยันความต้องการขยายบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ ไม่ใช่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน” จากการศึกษาเบื้องต้นทำให้ประชาชนในพื้นที่พบว่า นอกจากแหล่งหญ้าทะเล สัตว์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและสัตว์อนุรักษ์ที่มีการยืนยันการพบเห็นและอยู่ในบัญชีสัตว์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย เช่น วาฬ โลมาและพะยูนแล้ว ยังพบว่าชนิดพันธุ์ของสัตว์น้ำมีจำนวนมากกว่าข้อมูลที่ระบุไว้ในการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในปี 2549 (4) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรที่เพิ่มมากขึ้นในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ ขณะนี้มีความพยายามในการปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ซึ่งเกิดจากการผลักดันร่วมกันของประชาชนจังหวัดกระบี่โดยได้จัดทำรายงานศึกษาวิจัยวิถีชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพชายฝั่งทะเลอันดามันจังหวัดกระบี่ ฉบับสมบูรณ์เพื่อเสนอให้กับ คณะทำงานวิชาการพื้นที่ชุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติการขยายพื้นที่ชุ่มน้ำให้ครอบคลุมถึงบริเวณ เกาะจำ เกาะปู เกาะลันตา และเกาะปอ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวได้ถูกกำหนดให้เป็นเส้นทางขนส่งถ่านหินของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่ “การขอขยายพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่เป็นสิ่งบ่งชี้ได้ว่าชาวบ้านในพื้นที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่ดังกล่าว และต้องการปกป้องทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของท้องถิ่น เฉกเช่นเดียวกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำในโลก โดยจะต้องมีการจัดการและใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด” นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ คณะอนุกรรมการวิชาการพื้นที่ชุ่มน้ำ ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กล่าว “โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและกระทรวงพลังงาน เป็นโครงการที่สวนทางกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังทำให้สถานะของพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญต้องตกอยู่ในความเสี่ยง การดำเนินการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ไม่คุ้มค่ากับการได้มาซึ่งความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ วิถีชีวิตและการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ มูลค่าการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศบริเวณปากแม่น้ำกระบี่ (5) เพื่อการสันทนาการและการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวอยู่ที่ 9.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 311 ล้านบาท) ต่อปี โดยข้อมูลดังกล่าวยังไม่รวมผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การทำเกษตรกรรม การเพาะเลี้ยงชายฝั่งและการประมง” นางสาว จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซเอเชีตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินและกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขอเชิญชวนผู้ที่รักกระบี่ ร่วมกันกอดกระบี่เพื่อปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญและควรค่าแก่การอนุรักษ์ โดยสามารถร่วมลงชื่อกอดกระบี่ได้ที่ www.hugkrabi.org หมายเหตุ (1) พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ http://chm-thai.onep.go.th/wetland/KrabiEstuary01.html (2) อนุสัญญาแรมซาร์ไซต์หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ http://www.onep.go.th/soe_online/index.php?option=com_content&view=article&id=66:2010-04-19-03-33-29&catid=9:2010-02-11-15-20-40&Itemid=6 (3) งานวิจัยเรื่องวิถีชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพชายฝั่งทะเลอันดามันจังหวัดกระบี่หรือที่ชาวประมงพื้นบ้านตั้งชื่อว่า “งานวิจัยมหาลัยเล” พบจำนวนและชนิดพันธุ์ของสัตว์ทะเลมากกว่าการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ที่ผ่านมา รวมถึงในฐานข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยพบพันธุ์ปลาจำนวน 269 ชนิด หอยจำนวน 72 ชนิด กุ้งและกั้ง 21 ชนิด ปู 25 ชนิด หมึก 8 ชนิด และพบชนิดพันธุ์สัตว์ที่ชาวบ้านอนุรักษ์จำนวน 25 ชนิด ได้แก่ พะยูน โลมา โลมาปากแหลม โลมาสีชมพู ฉลามเสือ ฉลามหัวฆ้อน ฉลามบุดัง ฉลามขาว ฉลามวาฬ ฉลาดทราย กระเบนทราย ปลาดาว ปลิงทะเลดำ เต่าตะนุ เต่ากระ เต่าทะเล เต่ามะเฟือง เม่นทะเล (บูลูบาบี) ปุ๊ยักษ์ (ปลาสิงห์โต) ปุ๊ไฟ ม้าน้ำ แลนขาว แลนดำ ทากทะเล และลิงแสม สามารถดาวน์โหลดรายงานความคืบหน้าได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/krabi-research-progress-report/ (4) ในภาคผนวกของรายงานความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กันยายน 2549 ระบุรายชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในทะเลที่มีความสำคัญในจำนวน 35 ชนิด และรายชื่อชนิดพันธุ์สัตว์ที่มีความสำคัญในการอนุรักษ์ (ปลา, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลและสัตว์เลี้อยคลาน) ในพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่รวมกัน 19 ชนิด http://dric.nrct.go.th/bookdetail.php?book_id=181014 แผ่นข้อมูล(Information Sheet) ของพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ http://wetland.onep.go.th/wetlands/RIS_RAMSAR/Krabi_Estuary.pdf (5) รายงาน Assessing the Value of Krabi River Estuary Ramsar Site Conservation and Development โดย เพ็ญพร เจนการกิจ ARE Working Paper No. 2553/4, ธันวาคม 2553. http://core.kmi.open.ac.uk/download/pdf/6262443.pdf

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ