กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
กรมวิชาการเกษตร แนะวิธีใช้และเก็บสารโพแทสเซียมคลอเรตให้ปลอดภัย ต้องซื้อมาใช้ให้พอดีกับที่ต้องการ เก็บสารไว้ในภาชนะที่มีฝามิดชิด ไกลจากอินทรียวัตถุ ไม่นำไปผสมกับสารอื่น ส่วนร้านค้าต้องจัดวางไว้ให้ห่างจากปุ๋ยและวัตถุอันตราย วางแผนจัดอบรมผู้ประกอบการและเกษตรกร 8 จังหวัดภาคเหนือเร็วๆ นี้
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงกรณีเกิดเหตุระเบิดโรงเก็บสารโพแทสเซียมคลอเรต ซึ่งเป็นสารเร่งผลผลิตลำไยที่ อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า สารโพแทสเซียมคลอเรตเป็นสารที่เกษตรกรนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในการผลิตลำไยทั้งในและนอกฤดู เนื่องจากมีคุณสมบัติสามารถชักนำให้ลำไยออกดอกและติดผลได้โดยไม่ต้องพึ่งอากาศหนาวเย็น ทำให้การการผลิตลำไยนอกฤดูประสบความสำเร็จ มีการส่งออกลำไยนอกฤดูปีละประมาณ 1.5 – 2 แสนตัน หรือประมาณ 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตลำไยทั้งหมด หรือแม้แต่การผลิตลำไยในฤดูเกษตรกรก็นิยมใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต
สารโพแทสเซียมคลอเรต อยู่ภายใต้การควบคุมของกองควบคุมยุทธภัณฑ์ กรมการอุตสาหกรรมทหาร กระทรวงกลาโหม ตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 ซึ่งการมีไว้ในครอบครองผู้ผลิตหรือนำเข้าต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงกลาโหม สำหรับสารโพแทสเซียมคลอเรตที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2550 นั้น ต้องเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีเนื้อสารโพแทสเซียมคลอเรตไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์และต้องผสมสารหน่วงปฏิกิริยาโดยต้องระบุชนิดและปริมาณของสารหน่วงปฏิกิริยา ซึ่งเป็นไปตามการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายซึ่งกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบและควบคุมให้เป็นไปตามเงื่อนไขพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 โดยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดมาขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายในการผลิตสารโพแทสเซียมคลอเรตที่มีสารออกฤทธิ์ไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สำหรับการนำสารโพแทสเซียมคลอเรตที่มีสารออกฤทธิ์เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ไปใช้ในการเกษตรโดยไม่ให้เกิดการระเบิดหรือเกิดอันตรายนั้น เกษตรกรต้องใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต อย่างระมัดระวังและใช้ให้ถูกวิธีตามคำแนะนำ โดยควรซื้อสารโพแทสเซียมคลอเรตมาให้พอดีกับที่ต้องการใช้เท่านั้น และต้องเก็บสารไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด ห่างจากอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยยูเรีย หรือถ่าน สถานที่เก็บต้องเย็นและแห้ง มีอากาศถ่ายเทดี และมีพื้นที่ว่างเหลือโดยรอบ ที่สำคัญคือไม่ควรนำโพแทสเซียมคลอเรตไปผสมกับสารอื่น เช่น กำมะถันผง ผงถ่าน ขี้เลื่อย ปุ๋ยยูเรีย และสารฆ่าแมลง รวมทั้งห้ามตำสารหรือกระแทก หรือทำให้เกิดประกายไฟ และระหว่างเตรียมการใช้สารห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่นั้นโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ร้านค้าที่มีการจำหน่ายสารโพแทสเซียมคลอเรตต้องจัดวางสารให้ห่างจากปุ๋ยเคมี และวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่อาจเป็นวัตถุไวไฟและเกิดการระเบิดได้
“กรมวิชาการเกษตรมีหลักสูตรการจัดอบรมผู้ประกอบการค้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เป็นประจำทุกปีทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งในเร็วๆ นี้ ได้วางแผนที่จะเพิ่มข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับวิธีการใช้ การเคลื่อนย้าย และการเก็บรักษาสารโพแทสเซียมคลอเรตอย่างถูกวิธีเข้าไปในการอบรมครั้งต่อๆ ไปด้วย รวมทั้งการจัดอบรมให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตให้แก่เกษตรกรในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือซึ่งเป็นแหล่งผลิตลำไยที่สำคัญของประเทศไทยด้วย ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว