กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้จัดพิธีบวงสรวงและสมโภชศาลเจ้าพ่อขุนศักรินทร์ ประจำปี 2557 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 ณ ศาลเจ้าพ่อขุนศักรินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล รักษาราชการแทนอธิการบดี เป็นประธาน เริ่มโดยพิธีสงฆ์ พระสงฆ์ 9 รูปเจริญพระพุทธมนต์ ต่อด้วยพิธีพราหมณ์ ผู้นำประกอบพิธีโดย ร้อยเอกสมชายกลิ่นด่านกลาง พร้อมคณะ แล้วจึงเป็นการรำบวงสรวงของเหล่าคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้รับเกียรติจากพ่อบุญสม สังข์สุข ศิลปินมรดกอีสาน เป็นผู้ประพันธ์คำกลอน และขับร้องเพลงโคราช ซึ่งแต่งขึ้นใหม่เพื่อใช้ในงานนี้โดยเฉพาะ
ประวัติการตั้งศาลเจ้าพ่อขุนศักรินทร์ มีอยู่ว่าเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2492 อาจารย์อรรจน์ วิวัฒน์สุนทรพงศ์ เป็นอาจารย์ใหญ่ในสมัยนั้น ท่านมีจักรยานสองล้ออยู่คันหนึ่ง จอดไว้ที่สโมสรข้าราชการนครราชสีมา ได้เกิดหายไป จึงแจ้งให้อาจารย์จำเนียร ศุภลักษณ์ศึกษาการ อาจารย์จึงได้ให้หมอส่องในสมัยนั้น (ปัจจุบันเรียกหมอดู) ทำการส่องเทียน โดยมีชามบายศรีครู ภายในชามบายศรี มีไข่ต้ม 1 ใบ เงินยกครู 1 บาท 50 สตางค์ กระจกเงา 1 บาน พร้อมธูปเทียน เมื่อทำการส่องแล้วมองไม่เห็นในกระจกว่ารถจักรยานอยู่แห่งไหน เพราะมีเจ้าที่มาบังอยู่ คือ “ขุนศักรินทร์” ซึ่งเป็นชื่อของคุณตาเจ้าของที่ที่ขายให้รัฐบาล เพื่อสร้างโรงเรียนฝึกหัดครูแห่งนี้ (ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา) คุณแม่อิน ซึ่งเป็นภรรยาอาจารย์ใหญ่ จึงได้จุดธูปเทียนขอขมาและถามหมอส่องว่า “ท่านต้องการอะไรอีก” หมอส่องบอกว่า “ท่านต้องการศาล เพื่ออยู่อาศัย 1 หลัง” หมอส่องหาจักรยานถึง 4 วันจึงได้จักรยานคืน ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงได้ตั้งศาลพ่อขุนศักรินทร์ ทางด้านทิศตะวันออกของบ้านพักอาจารย์ใหญ่ ติดกับต้นทองหลางใหญ่ริมคูน้ำ
นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์อุทัย เดชตานนท์ อดีตอธิการบดีสถาบันราชภัฏนครราชสีมา (มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาปัจจุบัน) ได้เล่าว่า อาจารย์วิไลวรรณ เอื้อวิทยาศุภร อดีตผู้รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยครูนครราชสีมา ท่านเล่าว่า สมัยที่ท่านมีอายุไม่มากนัก เคยรู้จักกับบุคคลในครอบครัวของ “ขุนศักรินทร์” ซึ่งเป็นญาติสนิทของท่าน ซึ่งเป็นข้อยืนยันว่า “ขุนศักรินทร์” ได้มีตัวตนจริง
เมื่อศาลพ่อขุนศักรินทร์แล้วเสร็จ นายนุ่ม เย็นใจ ได้ส่องถามพ่อขุมศักรินทร์ว่า “ท่านต้องการอะไรบ้าง” จะได้จัดการเซ่นสักการะถูกใจท่าน” ซึ่งมีรายการ ดังนี้ 1. ผ้าม่วง 2. ผ้าขาวม้าไหม 3. ผ้าถุง 2 ผืน (เนื่องจากท่านมีภรรยา 2 คน) 4. เสื้อขาวแขนกระบอก 2 ตัว 5. ผ้าสไบเฉียงสีเหลืองและสีเขียวอย่างละ 1 ผืน (สันนิษฐานว่าเป็นที่มาของสีธงประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา) และ 6. อาหารหวานคาวตามถนัด
เมื่อเตรียมเครื่องสักการะดังกล่าวข้างต้นเรียบร้อย จึงได้ทำพิธีตั้งศาล และมีชื่อศาลเจ้าพ่อขุนศักรินทร์นับตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
ศาลเจ้าพ่อขุนศักรินทร์ได้ตั้งไว้ในสถานที่ดังกล่าวเป็นเวลาหลายปี จนกระทั้งภายหลัง อาจารย์ช่วงรัตนกุสุมภ์ ได้ทำพิธีอัญเชิญย้ายศาลเจ้าพ่อขุนศักรินทร์ไปอยู่ทางฝั่งลำตะคอง ซึ่งปรากฏอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้เพื่อเป็นที่อยู่ เป็นที่สักการบูชา “พ่อขุนศักรินทร์” อันเป็นเจ้าที่เจ้าทางของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นอกจากนี้ยังได้มีพิธียกศาลพระภูมิ หน้าประตูทางเข้ามหาวิทยาลัย (ประตู 1) ได้เชิญดวงวิญญาณของท่านขุนศักรินทร์มาสถิต ณ ศาลนี้ด้วย
ศาลเจ้าพ่อขุนศักรินทร์ ปัจจุบันจะมีรูปปั้นของ “ขุนศักรินทร์” มีขนาดเท่าคนจริงในท่านั่งห้อยเท้ามือขวากำดาบไว้บนตัก หน้าตาท่าทางดูกำยำ น่าเกรงขาม เหมือนคนโบราณ ผู้ปั้นคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.สามารถ จับโจร รูปปั้นของพ่อขุนศักรินทร์ มีข้อน่าสนใจเกี่ยวกับดาบที่ท่านถือ นายสร้อย สิทธิเสือ อดีตหัวหน้าฝ่ายยานพาหนะมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ให้ข้อมูลแก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์อุทัย เดชตานนท์ ว่าคนที่กราบไหว้หรือแก้บน มักจะใช้ดาบเป็นเครื่องบูชา ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าที่นำดาบเป็นเครื่องบูชาก็เพราะว่าท่านมาเข้าฝัน จึงถือเป็นข้อปฏิบัติสืบเนื่องต่อกันมา นอกจากนี้ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคน จะได้ร่วมกิจกรรมไหว้สักการะพ่อขุนศักรินทร์ เพื่อความเป็นสิริมงคลให้แก่ตนเอง โดยมีความเชื่อว่าเป็นการฝากเนื้อฝากตัวกับท่าน ให้ท่านดูแลปกปักรักษา คุ้มครอง จนสำเร็จการศึกษา ซึ่งถือเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ การจัดพิธีบวงสรวงจัดขึ้นเพื่อเป็นการสักการบูชา ศาลเจ้าพ่อขุนศักรินทร์ อันเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชื่อว่าบุญบารมีของท่านจะช่วยปกป้อง คุ้มครอง และอำนวยพรให้ผู้ที่สักการะได้รับความปิติสุขสืบไป