กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--พม.
พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชาวโรฮีนจาและบังกลาเทศที่ลักลอบเข้าเมือง พร้อมทั้งประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาชาวโรฮีนจาและบังกลาเทศลักลอบเข้าเมืองและปัญหาการค้ามนุษย์ พร้อมทั้งมอบนโยบายแนวทางปฏิบัติงานแก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ที่สถานีตำรวจภูธรกะเปอร์ จังหวัดระนอง
พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางดำเนินงาน
ในเรื่องดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานด้านป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง และจากกรณีที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ สนธิกำลังหลายหน่วยงาน เข้าจับกุมชาวโรฮีนจาและบังกลาเทศ จำนวนทั้งสิ้น ๒๙๙ คน ซึ่งเป็นผู้หญิงและเด็กจำนวนกว่า ๓๐ คน ที่ลักลอบหลบหนีเข้าเมือง บริเวณเกาะนกในอ่าวกะเปอร์ จังหวัดระนอง กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว โดยตน พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ได้เร่งลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและรับทราบข้อมูล เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป
พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ ตนได้มอบนโยบายทางการปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดระนอง ดังนี้ ๑) ขอให้จังหวัดระนองดำเนินการคัดแยกผู้เสียหายทุกคน ๑๐๐% โดยบูรณาการการดำเนินงานในรูปแบบทีมสหวิชาชีพระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๒) หากพบว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง สาวให้ถึงต้นตอของการค้ามนุษย์ เพื่อขจัดการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ ทั้งนี้ ส่วนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯของจังหวัดระนอง ขอให้ดำเนินการคุ้มครองช่วยเหลือ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้เสียหายจะได้รับเป็นสำคัญทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมทั้ง ขอให้ประสานงานกับประเทศต้นทางเพื่อดำเนินการส่งกลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย และป้องกันไม่ให้ตกเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์อีก ๓) หากพบว่าไม่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ขอให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินการผลักดัน (deport) ผู้หลบหนีเข้าเมือง ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และ ๔) ขอให้จังหวัดระนองรายงานความคืบหน้าของกรณีดังกล่าวให้ทราบอย่างต่อเนื่อง
“ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และปัญหาการลักลอบหลบหนีเข้าเมือง จะลดลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วนโดยบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่”
พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวตอนท้าย