กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อให้บริการข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตรที่สำคัญระดับประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว โดยศูนย์ ฯ ให้บริการข้อมูลอย่างรอบด้านที่สะดวก รวดเร็ว และครบวงจร
นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การเปิดศูนย์ฯดังกล่าว นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่เกษตรกร เพราะศูนย์แห่งนี้ให้ข้อมูลทั้งด้านองค์กร แผนปฏิบัติงาน ข้อมูลด้านโยบายงานวิจัย การติดตามและประเมินผลตลอดจนข้อมูลด้านราคาสินค้าเกษตร การพยากรณ์ การเตือนภัย การผลิต การตลาด การนำเข้า-ส่งออก ทั้งของพืช ปศุสัตว์ และประมง รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือน เกษตรกรและข้อมูลแผน ที่แสดงถึงความเหมาะสมในการผลิต เพื่อกำหนดเขตเศรษฐกิจสินค้าเกษตร โดยในขณะนี้ สศก. ได้ทำการเชื่อมโยงกับศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรไปยังระดับเขต และระดับเศรษฐกิจการเกษตรอาสา ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบอาสาสมัครของ สศก. เพื่อเผยแพร่ข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตรอย่างเต็มรูปแบบให้เกษตรกรในพื้นที่ ให้เข้าถึงข้อมูล และสามารถใช้เป็นทางเลือกในการตัดสินใจทำการผลิต และการตลาด เช่น ข้อมูลราคา ต้นทุน การผลิต และข้อมูลแนวโน้มการตลาด เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้น และคาดว่า ศูนย์ให้บริการของเศรษฐกิจการเกษตรอาสาทั่วประเทศ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การบริการข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตรเป็นไปอย่างทั่วถึง จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการผลิตและการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
นายธวัชชัย ประยูรสิน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต10 จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรดำเนินการเปิดศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรอาสา(ศบอ.) ในหลายพื้นที่ เช่นที่จังหวัดนครปฐม ศกอ.นายสมบัติ เล็บครุฑ ณ บ้านเลขที่ 64 ม.10 ต.นิลเพชร อ.บางเลน จ.นครปฐม มี ความเชี่ยวชาญ เรื่องการปลูกข้าว การค้าขาย การทำเกษตรแบบผสมผสาน ฯลฯ และ ศกอ.นายสุธรรม จันทร์อ่อน ณ บ้านเลขที่ 54 ม.10 ต.ทุ่งขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม มีความรู้ด้าน เกษตรอินทรีย์ผสมผสานและปราชญ์ชาวบ้าน ศกอ. นาย ปัญญา โตกทอง เลขที่ 43 หมู่ 5ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เจ้าของรางวัลมากมาย ปัจจุบัน เลี้ยงกุ้งธรรมชาติและเลี้ยงปลาสลิด
ด้านนายสมบัติ เล็บครุฑ เกษตรกรต้นแบบอาสาสมัครของ สศก. อยู่ที่ตำบลนิลเพชร อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เกษตรกรต้นแบบ ที่ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ได้เผยถึงความสำเร็จ ในการทำการเกษตรจากการที่พยายามศึกษาเรียนรู้หาข้อมูลด้วยตัวเอง ลองผิดลองถูก มาจนถึงปัจจุบัน สามารถปลูกข้าวไรท์เบอรี่ได้คุณภาพดี ถูกใจผู้บริโภค สามารถทำการตลาดด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง จนสร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำ ทำให้ครอบครัวอยู่ดีมีสุข จากการที่เป็นคนที่สู้ไม่ถอยและหมั่นศึกษาหาข้อมูลเพื่อพัฒนาตัวเองมาโดยตลอดนั่นเอง
ส่วนนายสุธรรม จันทร์อ่อน เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2553และเป็น เกษตรกรต้นแบบอาสาสมัครของ สศก. แห่งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงบ้านปลักไม้ลาย อยู่ที่ หมู่ 10 ตำบลทุ่งขวาง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ก็ได้บอกเล่าถึงการประสบความสำเร็จจากการทำเกษตรอินทรีย์ผสมผสานว่า ตนเองยึดแนวทางการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำเกษตรอินทรีย์เพื่อเอื้อกันและกัน เน้นปลูกเพื่อบริโภค พออยู่พอกิน และได้ขยายแนวคิดสู่ชุมชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยใช้แปลงเกษตรเป็นศูนย์เรียนรู้การทำเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ให้ความรู้และเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรที่ต้องการกลับสู่วิถีการทำเกษตรอินทรีย์
"ผมปล่อยให้ธรรมชาติพึ่งพากัน บริเวณที่ปลูกพืชผัก เช่น กล้วย ไผ่ ชะมวง ใบยอ ชะอม ต้นไม้จะเกื้อกูลกัน ใบไม้ที่ร่วงหล่นเป็นปุ๋ยบำรุงดินอย่างดี ผมปล่อยไก่จิกกินวัชพืชรอบๆ มูลไก่ก็กลายเป็นปุ๋ย ส่วนนาข้าวก็มีเป็ดคอยดูแลช่วยกินหอยเชอรี่ ควบคุมกันเองตามธรรมชาติ สิ่งที่ออกไปเป็นรายได้ทั้งหมด แทบจะไม่มีต้นทุน สมัยปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อแม่เขาทำเกษตร ไม่พึ่งสารเคมี เขาสามารถอยู่ได้ พอมีพอกิน ต่างกับสมัยนี้ ผมคิดว่าคนทำเกษตรควรต้องกลับไปสู่วิถีเดิมเพื่อสุขภาพที่ดี" นายสุธรรม กล่าว
ศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรจะเป็นแหล่งรวบรวม ข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตรที่สำคัญ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างครอบคลุม และทั่วถึง มุ่งเน้นเพื่อเป็นช่องทางให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านการเกษตรได้ด้วยตนเอง และพัฒนาให้มีการเชื่อมต่อกับแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้เกษตรกร ก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีกด้วย