กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--กสทช.
เผยรายงานคงสิทธิเลขหมาย เอไอเอสแชมป์ใช้บริการสูงสุด ส่วนทรูมูฟโอนย้ายอืดทั้งที่สัญญาสัมปทานสิ้นสุดมาปีกว่าแล้ว หมอลี่เตือนหากล่าช้า ระวังปัญหาซิมดับจะกลับมา
รายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ MNP (Mobile Number Portability) ฉบับล่าสุดประจำเดือนกันยายน 2557 ระบุยอดเลขหมายที่ขอโอนย้ายในเดือนสิงหาคมมีจำนวน 2,434,780 เลขหมาย โดยมีเลขหมายที่โอนย้ายสำเร็จจำนวน 2,359,352 เลขหมาย คิดเป็น 96.9 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนนี้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) หรือค่ายเอไอเอส มีการใช้บริการคงสิทธิเลขหมายเฉลี่ยต่อวันสูงสุด ขณะที่ทุกค่ายมีประสิทธิภาพการโอนย้ายเลขหมายมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ยกเว้นบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด (RF) หรือค่ายทรู และบริษัท ทีโอที จำกัด (TOT) ที่โอนย้ายสำเร็จเพียง 53 เปอร์เซ็นต์ และ 44 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
ในขณะที่การโอนย้ายของผู้ใช้บริการจากระบบ 2G ไป 3G พบสถิติการโอนย้ายออกสะสมตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 – เดือนสิงหาคม 2557 ทั้งสิ้น 38,690,690 เลขหมาย เกือบทั้งหมดเป็นการโอนย้ายไปสู่กลุ่มบริษัทในเครือที่ให้บริการบนคลื่นความถี่ 2100 MHz ซึ่งถ้าหากพิจารณาในส่วนบริการ 2G ของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด (True Move) ที่สัญญาสัมปทานใช้คลื่น 1800 MHz สิ้นสุดลงตั้งแต่ 15 กันยายน 2556 พบว่า มีการโอนย้ายออกสะสมอยู่ที่ 5,525,097 เลขหมาย แบ่งเป็นผู้ใช้บริการที่โอนย้ายจากทรูมูฟไปบริษัท เรียล มูฟ จำกัด จำนวน 4,186,332 เลขหมาย และทรูมูฟไปบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด จำนวน 1,338,765 เลขหมาย โดยเดือนที่มีจำนวนการโอนย้ายสูงสุดคือเดือนตุลาคม 2556 ซึ่งเป็นเดือนแรกที่อายุสัมปทานสิ้นสุด หลังจากนั้นแนวโน้มการโอนย้ายก็ลดลงจนอยู่ในอัตราค่อนข้างคงที่ คือ 300,000 – 400,000 เลขหมายต่อเดือน อย่างไรก็ดี รายงานดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าปัจจุบันยังคงมีผู้ใช้บริการทรูมูฟตกค้างอยู่ในระบบเดิมจำนวนเท่าใด
ทั้งนี้ สัญญาสัมปทานบนคลื่น 1800 MHz ของบริษัททรูมูฟสิ้นสุดลงตั้งแต่ 15 กันยายน 2556 โดยในช่วงก่อนหน้านั้นผู้ให้บริการอ้างว่ายังมีผู้ใช้บริการที่ไม่ได้โอนย้ายออกจากระบบประมาณ 17 ล้านเลขหมาย เป็นเหตุให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 โดยอนุญาตให้ผู้ให้บริการรายเดิมใช้คลื่นให้บริการต่อไปได้อีก 1 ปี พร้อมกับเร่งรัดการโอนย้ายในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาซิมดับ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อเวลาผ่านไปยังคงมีแนวโน้มว่าผู้ให้บริการไม่สามารถโอนย้ายผู้ใช้บริการได้ทันตามเงื่อนไขระยะเวลาดังกล่าว จนกระทั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 ให้ กสทช. ชะลอการจัดประมูลคลื่นออกไป 1 ปี พร้อมกับขยายระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการไม่ให้ประสบปัญหาซิมดับออกไปอีก 1 ปี
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการออกประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ ตั้งแต่ต้น เพราะเห็นว่า สำนักงาน กสทช. ควรเร่งจัดประมูลคลื่นความถี่ให้ทันก่อนสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง แต่ในเมื่อมติที่ประชุมเลือกเดินทางนี้เพื่อแก้ไขปัญหาซิมดับ ก็เห็นว่าสิ่งที่สำนักงานต้องทำคือเร่งรัดผู้ให้บริการโอนย้ายลูกค้าออกจากระบบเก่าโดยเร็วที่สุด ซึ่งปัจจุบันเลยระยะเวลาสิ้นสุดสัมปทานมาแล้วปีกว่า ขณะเดียวกันก็ได้รับรายงานจากสำนักงานว่า ยังมีลูกค้าทรูมูฟอีก 3 ล้านกว่าเลขหมายที่ยังไม่ได้โอนย้าย ดังนั้นจึงน่าเป็นห่วงว่า หากไม่มีการเร่งรัดการโอนย้าย เมื่อถึงเวลาสิ้นสุดมาตรการคุ้มครองตามคำสั่ง คสช. แล้ว ปัญหาซิมดับก็จะเกิดขึ้นอยู่ดี
“สำนักงาน กสทช. นำเสนอรายงานเรื่อง MNP ให้ที่ประชุม กทค. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม) ทราบ ผมจึงได้เห็นข้อมูลว่า ปริมาณการโอนย้ายที่มากจริงๆ ของทรูมูฟเกิดขึ้นในเดือนแรกหลังสัมปทานสิ้นสุดเพียงเดือนเดียวเท่านั้น แต่ตลอดมาต่อจากนั้นอยู่ที่ระดับเดือนละ 3-4 แสนเลขหมาย ซึ่งน้อยมาก ในขณะที่ความสามารถของระบบรองรับการโอนย้ายเฉพาะรายของทรูมูฟได้เดือนละ 1.8 ล้านราย ข้อมูลนี้ฟ้องว่าไม่ได้มีการเร่งการโอนย้ายอย่างจริงจังในระหว่างช่วงการขยายระยะเวลาให้บริการ ที่เคยอ้างกันว่าออกมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการมาเพื่อแก้ปัญหาซิมดับจึงไม่จริง”
นายประวิทย์ระบุว่า ขณะนี้จึงได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. เร่งกระตุ้นบริษัทให้เร่งประชาสัมพันธ์ รวมทั้งดำเนินการเองด้วย เพื่อให้ขนาดของปัญหาลดเหลือน้อยที่สุด