กรมทะเบียนการค้ารายงานแนวโน้มสถานการณ์ก๊าซปิโตรเลียมเหลว เดือนพฤษภาคม 2541

ข่าวทั่วไป Thursday May 14, 1998 13:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--14 พ.ค.--กรมทะเบียนการค้า
นายนรวัฒน์ สุวรรณ อธิบดีกรมทะเบียนการค้าเปิดเผยว่ากรมทะเบียนการค้าได้ประมาณการแนวโน้มสถานการณ์ก๊าซปิโตรเลียมเหลวในเดือนพฤษภาคม 2541 นี้ว่าประเทศไทยมีความต้องการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวประมาณ วันละ 4,800 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา วันละ 217 เมตริกตัน คิดเป็นร้อยละ 5 ทั้งนี้เป็นการใช้เพิ่มขึ้นในส่วนที่นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีวันละ 645 เมตริกตัน ในขณะที่คาดว่าก๊าซฯ ที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงจะมีปริมาณลดลง โดยมีการใช้วันละ 4,100 เมตริกตัน ลดลงร้อยละ 8 ซึ่งยังคงลดลงต่อเนื่องจากปลายปีที่ผ่านมา อันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา โดยการใช้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่ ก๊าซฯ ที่ใช้ในรถยนต์ลดลง ร้อยละ 25 รองลงมาได้แก่ ก๊าซฯที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมร้อยละ 17 และก๊าซที่ใช้ในครัวเรือนร้อยละ 4 โดยมีสัดส่วนการใช้ ดังนี้
ปริมาณ (เมตริกตัน/วัน) ร้อยละ
- ใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน 3,191 78
โดยบรรจุถังหุงต้ม
- ใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ 284 7
- ใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรม 639 15
การจัดหา คาดว่ามีปริมาณวันละ 5,800 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเล็กน้อยวันละ 37 เมตริกตัน โดยเป็นการผลิตเพิ่มขึ้นของโรงแยกก๊าซฯ ซึ่งผลิตได้วันละ 3,200 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ทั้งนี้เนื่องจากโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 3 และ 4 ของปตท.เริ่มดำเนินการผลิตได้ตามปกติหลังจากปิดซ่อมแซมประจำปีเมื่อเดือนที่ผ่านมา ในขณะที่โรงกลั่นภายในประเทศมีการผลิตลดลง โดยผลิตได้วันละ 2,400 เมตริกตัน ลดลงร้อยละ 18 ปริมาณการผลิตที่ลดลงค่อนข้างมาก เป็นผลจากโรงกลั่นเอสโซ่ได้ปิดซ่อมแซมประจำปี ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม - 10 มิถุนายน 2541 ประกอบกับโรงกลั่นระยองได้ปิดซ่อมแซมบางส่วนด้วย นอกจากนี้ยังรับผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอีกวันละ 271 เมตริกตัน
สถานการณ์ก๊าซฯในเดือนนี้ แม้ว่าโรงกลั่นบางแห่งจะมีการปิดซ่อมแซมก็ตาม แต่ปริมาณก๊าซปิโตรเลียมเหลวในประเทศยังคงมีมากกว่าความต้องการใช้ ถึงวันละ 1,000 เมตริกตัน ทำให้มีการจัดส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศในแถบอินโดจีนอีก วันละ 1,000 เมตริกตันเช่นกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศแต่อย่างใด--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ