กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในการร่วมเสวนาหัวข้อ “โครงสร้างเศรษฐกิจไทย...ออกแบบใหม่ให้ยั่งยืน” ซึ่งจัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ โดยมี นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมการเสวนา ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี ว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำของภาคการเกษตรในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ได้เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกร โดยปัญหาสิทธิครอบครองที่ดินที่ไม่เท่าเทียมกันเป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญและพยายามแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างการวางกรอบดำเนินการด้านกฎหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ส่วนปัญหาน้ำในการใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภคจะต้องกลับมาพิจารณาถึงแนวทางการจัดเก็บค่าน้ำในอัตราที่เหมาะสมกับภาคการผลิตแต่ละภาคส่วน เพื่อให้การใช้น้ำเกิดประสิทธิภาพและได้รับการจัดสรรอย่างทั่วถึง ควบคู่กับการสร้างวินัยให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด
นอกจากนี้ ปัญหาหนี้สินเกษตรกรเป็นปัญหาที่สำคัญและต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ทั้งการปรับโครงสร้างด้านการเกษตร ซึ่งต้องมีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานผลผลิตเพื่อให้ตลาดโลกให้การยอมรับ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ อยู่ในระหว่างการศึกษาแนวทางเพื่อออกเป็นกฎกระทรวงให้นำเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ไปหมุนเวียนในส่วนสหกรณ์การเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เนื่องจากปัญหาเงินทุนถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาผลผลิตด้านการเกษตร โดยขณะนี้เกษตรกรมีหนี้เสียร้อยละ 4 แต่หนี้สินครัวเรือนได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งได้มอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วางแนวทางการช่วยเหลือ หากสามารถบริหารจัดการหนี้สินได้ก็จะเป็นประโยชน์และสร้างความมั่นคงในการสร้างรากฐานแก่เกษตรกร
นายปีติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาขีดความสามารถด้านการผลิตมีความสัมพันธ์กับราคาสินค้าเกษตร ซึ่งจะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลระหว่างปริมาณสินค้าเกษตรและราคาที่ขายได้สูงขึ้น จึงต้องวางแผนตำแหน่งสินค้าแต่ละประเภทให้เหมาะสม เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการตลาดให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ นอกจากนี้ ยังต้องเพิ่มช่องทางการใช้สินค้าเกษตรภายในประเทศให้มากขึ้น เช่น ยางพารา ซึ่งจะทำอย่างไรให้มีการลงทุนด้านการผลิตภายในประเทศให้มากขึ้น จึงต้องมองหาช่องทางตลาดใหม่ เช่น การค้าผ่านตลาดล่วงหน้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ด้านราคาและจูงใจให้เกษตรกรผลิตยางพาราที่มีคุณภาพออกมาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เกิดความยั่งยืนจะต้องอาศัยการทำงานบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงต่างๆและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดำเนินงานแก้ไขปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกันและประสานความร่วมมือได้อย่างรวดเร็วขึ้น