กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
ศาสตราจารย์ ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม ได้ดำเนินการตามแผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2558 – 2560 ของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการลดการใช้ความรุนแรง สนับสนุนแนวทางสันติวิธี ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและอยู่ในสังคมอย่างปกติสุข และเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้กระทรวงวัฒนธรรม จำนวน 94.1 ล้านบาท ดำเนินการเรื่องดังกล่าว โดยให้แต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมขับเคลื่อนสู่พื้นที่ 3 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ4อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย เพื่อนำมิติทางศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม รวมทั้งการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดรายได้กับประชาชนผ่านกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย โครงการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในมิติวัฒนธรรม โครงการวัฒนธรรมสัมพันธ์ชายแดนใต้ โครงการเยาวชนต้นแบบโขน จังหวัดปัตตานี โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้อัล-กุรอาน รวมทั้งการปรับปรุงการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ วัดช้างไห้ จังหวัดปัตตานี การบูรณะวัดชลธาราสิงเห ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส และการบูรณะพลับพลาที่ประทับ รัชกาลที่ 7 อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี นอกจากนี้ยังมีการอุดหนุนการจัดกิจกรรมทางศาสนาและเครือข่ายวัฒนธรรม สนับสนุนโครงการศูนย์การเรียนรู้ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช) อีกทั้งยังจัดโครงการประกวดงานเขียนเรื่องดีๆ ที่บ้านเรา และโครงการสร้างสรรค์ผ้าบาติกร่วมสมัยสานใจแดนใต้
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ตนได้มอบหมายให้กรมต่างๆ ขับเคลื่อนกิจกรรมลงสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้แบบทำงานเชิงรุก โดยให้งบประมาณกระจายตัวออกมาแต่ละไตรมาสอย่างชัดเจน มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชน อาทิ การเร่งรัดปรับแบบตัวอุโบสถพื้นที่แสดงพิพิธภัณฑ์วัดช้างไห้ที่อยู่ในงบปี 57 และพัฒนาต่อไปในงบปี 58 รวมทั้งการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม หรือ CPOT ที่แต่ละจังหวัดมีอยู่นั้นจะต้องวิเคราะห์ว่าสามารถสร้างรายได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งหากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้รับการพัฒนาและเป็นที่ยอมรับแล้ว สามารถนำมาต่อยอดเพื่อจัดแสดงในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน และศูนย์อินสไปร์บายไทยที่กระทรวงวัฒนธรรมกำลังดำเนินการจัดตั้งที่หอศิลป์ราชดำเนินอีกด้วย
สำหรับในมิติของศาสนานั้น ต้องเปิดพื้นที่ให้แต่ละศาสนามาทำกิจกรรมการเรียนรู้หลักของแต่ละศาสนา และวัฒนธรรมร่วมกัน อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ต้องบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กอ.รมน. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และส่วนภูมิภาค โดยนำมิติทางวัฒนธรรมไปร่วมกันขับเคลื่อนกับประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เพราะวัฒนธรรมเป็นมิติที่งดงามและมีพลังสามารถในการเยียวยาให้เกิดความสงบได้อีกด้วย