กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้!! การตั้งแลป DRAในโรงพยาบาลเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้สามารถตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อร้ายแรงในผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้ออีโบลา ช่วยให้ผู้ป่วยไม่เสียโอกาสในการรักษา โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยก็ยิ่งมากขึ้น เผย!! ห้องDRAของ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ เป็นแลปที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง มีข้อเด่นอยู่หลายประการที่รพ.ทั่วไปจะมาเรียนรู้ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าภายในเดือนธันวาคม 57 นี้ รพ.ทั่วประเทศและรพ.ในกรุงเทพอย่างน้อย 20 แห่งต้องมีห้อง DRA และในอนาคตต้องมีห้อง DRA เพิ่มขึ้นอีก 30 แห่งในรพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รวมถึงรพ.ในจังหวัดที่มีสนามบิน
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า แม้ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลา แต่เพื่อความไม่ประมาทและเป็นการเตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการให้มีความปลอดภัย รองรับผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสอีโบลา และโรคติดเชื้อร้ายแรงอื่นๆ กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้จัดตั้งห้อง DRA ขึ้นในรพ.ศูนย์ทุกเขตบริการสุขภาพและส่วนกลาง เพื่อให้เป็นพื้นที่เฉพาะแยกออกต่างหากจากห้องปฏิบัติการประจำ สำหรับรองรับการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อร้ายแรงอื่นๆ ในผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้ออีโบลา เป็นห้องที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง ทำหน้าที่เก็บตัวอย่างเชื้อต้องสงสัย ส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อ ตรวจวิเคราะห์ว่าใช่โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาหรือไม่
เนื่องจากที่ผ่านมาหากพบผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสอีโบลา ก่อนได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคนั้นผู้ป่วยต้องใช้เวลารอนานถึง 5 วัน หากผู้ป่วยเป็นโรคติดเชื้ออื่นๆนอกจากจะทำให้เสียโอกาสในการรักษาแล้วยังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต การตั้งห้อง DRA ขึ้นในรพ.จึงถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้การตรวจวินิจฉัยเชื้อโรคติดต่อร้ายแรงอื่นๆ ในผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้ออีโบลาทำได้ไวขึ้น หากตรวจพบว่าเป็นโรคติดเชื้อชนิดอื่น เช่นโรคมาลาเรีย หรือไข้เลือดออก ผู้ป่วยก็จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ขณะเดียวกันหากผลการตรวจได้รับการยืนยันจากห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าเป็นเชื้อไวรัสอีโบลาแล้ว สิ่งที่ห้อง DRA จะรองรับก็คือการตรวจเฉพาะรายการทดสอบที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วย เช่น การตรวจการทำงานของตับ ไต การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจเคมีคลินิกของเลือด ตรวจเกลือแร่ เป็นต้น เนื่องจากการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลาจำเป็นจะต้องมีการติดตามการเปลี่ยนแปลงในร่างกายอยู่ตลอดเวลา ผลวิเคราะห์ที่ได้จึงสามารถนำมาใช้ประกอบการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตได้มากที่สุด
นพ.อภิชัยยังกล่าวอีกว่าจากการประเมินความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ DRAรพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ถือได้ว่าเป็นห้องที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง ซึ่งมีข้อเด่นที่รพ.ทั่วไปจะมาเรียนรู้ได้คือ 1.เป็นห้องที่มีความดันต่ำคือจะดูดอากาศจากภายนอกเข้าไปแต่อากาศจากข้างในจะไม่ไหลออกจึงไม่มีโอกาสที่อากาศหรือเชื้อโรคจะแพร่ออกไปสู่ด้านนอกได้ 2.ในการส่งตัวอย่างเพื่อตรวจนั้นจะมีการจัดพื้นที่พิเศษเป็นช่องสำหรับการรับ-ส่งตัวอย่างโดยเฉพาะ โดยผู้ส่งไม่ต้องเดินเข้าไปส่งถึงในห้องปฏิบัติการ จึงปลอดภัยทั้งบุคคลภายนอก ภายในและผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง 3.การบริหารจัดการของที่นี่จะมีความปลอดภัยสูงและมีอุปกรณ์ป้องกันพร้อม อย่างเช่นกระบวนการเตรียมตัวอย่างจะเตรียมในตู้ชีวนิรภัยระดับ 2 (BSL-2)ที่มีการปฏิบัติการแบบ BSL-3 เครื่องมือที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยจะเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด ตั้งแต่เครื่องปั่นแยกเลือดจะเป็นระบบปิด เครื่องมือที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยจะเป็นระบบอัตโนมัติ ตั้งแต่เครื่องปั่นแยกเลือดเป็นระบบปิด เครื่องตรวจนับเม็ดเลือด เครื่องตรวจสารเคมีในเลือด เครื่องอบนึ่งฆ่าเชื้อแบบความดันสูงเพื่อกำจัดตัวอย่างสิ่งส่งตรวจซึ่งกระบวนการจะเบ็ดเสร็จภายในห้องDRA
“ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้วางเป้าหมายภายในเดือนธันวาคม 2557 นี้ รพ.ทั่วประเทศอย่างน้อย 15 แห่งและรพ.ในกรุงเทพ 5 แห่งรวม 20 แห่งต้องมีห้องDRA และในอนาคตต้องมีห้อง DRA เพิ่มขึ้นอีก 30 แห่ง ในรพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รวมถึงรพ.ในจังหวัดที่มีสนามบินและที่สำคัญต้นปี2558 รพ.ประจำจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดต้องมีห้อง DRA” นพ.อภิชัยกล่าวปิดท้าย
ส่วนนางกุลธิดา ศิริวัฒน์ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่1/1จ.เชียงราย กล่าวว่า ทางศูนย์ฯได้รับนโยบายให้มาพัฒนาห้องปฏิบัติการDRA ที่เลือกมาพัฒนา รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ เพราะอยู่ในกลุ่มเป้าหมายและคิดว่าจะประสบความสำเร็จเป็นตัวอย่างของที่อื่นได้ การพัฒนาจะเริ่มตั้งแต่การจัดอบรมบุคลากรที่จะทำงานให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องอีโบลา การจัดการให้ปลอดภัยทั้งการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ป้องกันและมีคู่มือเป็นแนวทางให้ (คู่มือสิ่งส่งตรวจอีโบลา) และทำความเข้าใจว่าห้องปฏิบัติการ DRA ไม่ได้ทำเพื่ออีโบลาอย่างเดียว แต่เป็นการทำเพื่อโรคติดเชื้อร้ายแรงอื่นๆด้วย เช่น เมอร์สโควี เพราะคนที่ไปต่างประเทศกลับมาอาจจะได้รับเชื้อกลับมาด้วย ผู้ที่จะเข้ามาทำงานในห้อง DRA ต้องเข้าใจในตัวงานก่อนว่าจะต้องทำงานอะไรบ้าง ต้องเป็นคนที่คล่องแคล่ว มั่นใจในการทำงาน ต้องมีความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือทุกชิ้นเพื่อตรวจวิเคราะห์ได้อย่างมั่นใจ
ในขณะที่นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผู้อำนวยการรพ.เชียงรายประชานุเคราะห์กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดที่มีทั้งสนามบินและมีจุดผ่านแดนถึง 3 จุด ในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าออกเป็นจำนวนมากทางรพ.จึงได้พัฒนาและเตรียมความพร้อมห้อง DRA ให้มีเครื่องมือและอุปกรณ์ป้องกันให้ครบถ้วนโดยพยายามจะให้ห้องและเครื่องมืออยู่ใกล้กันมากที่สุด เพื่อความสะดวกในการดูแลผู้ป่วย หากพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้ออีโบลาจริง ก็จะมีการปิดทั้งชั้นเพื่อกันไว้เป็นพื้นที่สำหรับรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วย ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยจากการติดเชื้อ ซึ่งการดำเนินการทุกอย่างจะเป็นมาตรฐานทั้งหมด มีการตรวจคุณภาพห้อง DRAเป็นประจำ การตรวจสอบความแม่นยำของเครื่องตรวจแยกเชื้อ การวินิจฉัยโรค การอบรมเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการให้มีความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือ การอบรมบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วย รวมถึงการทำลายเชื้อด้วย
ด้านนายพลวรรต ทองสุขนักเทคนิคการแพทย์ชำนาญการพิเศษหัวหน้าผู้ดูแลห้อง DRA บอกว่า ผู้ที่จะทำงานในห้อง DRA ต้องได้รับการฝึกอบรมเป็นพิเศษ ทั้งการใช้ชุดป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งต้องใส่ชุดถึงสองชั้น การใส่ การถอดชุด การตรวจวิเคราะห์และการใช้เครื่องมือในห้องปฏิบัติการ DRA ทุกชิ้นต้องทำด้วยความระมัดระวังตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ซึ่งที่ผ่านมาทางรพ.เชียงรายได้ฝึกอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรและซ้อมแผนเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้านรวมทั้งนักเทคนิคการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในห้อง DRA เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกมาข้างนอก ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความมั่นใจในความปลอดภัยมากขึ้น