กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ร่างกฎหมายภาษีมรดก” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 12 – 13 พฤศจิกายน 2557 กรณีศึกษาจากประชาชนทั่วประเทศ ที่มีรายได้เฉลี่ย ต่อเดือน มากกว่า 30,001 บาทขึ้นไป กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,249 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับข้อเสนอในการเก็บภาษีมรดก และการเก็บภาษีจะช่วยลดการเหลื่อมล้ำต่าง ๆ อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นด้วยวิธีแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อข้อเสนอภาษีมรดกที่จะมีการเก็บภาษีในอัตรา 10% จากทรัพย์สินส่วนที่เกินกว่า 50 ล้านบาท พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.58 ระบุว่าเป็นอัตราภาษีที่เหมาะสม ร้อยละ 9.05 ระบุว่าเป็นอัตราภาษีที่มากเกินไป ร้อยละ 6.41 ระบุว่าเป็นอัตราภาษีที่น้อยเกินไป ขณะที่ ร้อยละ 13.20 ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีมรดก ร้อยละ 0.16 ระบุว่ามีควรเก็บภาษีเป็นอัตราก้าวหน้าหรือเก็บเฉพาะทรัพย์สินส่วนเกินกว่า 100 ล้านบาท ขึ้นไป และร้อยละ 1.60 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการยกเว้นการเก็บภาษีมรดกให้กับคู่สมรส พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.04 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน สามี ภรรยาถือเป็นคนๆ เดียวกัน ร้อยละ 42.92 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการไม่ยุติธรรม ควรเก็บภาษีทุกคนทั้งสามีและภรรยา กลัวเป็นช่องทางการหลีกเลี่ยงภาษี เกิดการทุจริตได้ เกิดการถ่ายโอนมรดกให้กัน และ ร้อยละ 3.04 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอการแก้กฎหมายประมวลรัษฎากรการให้ทรัพย์สินแก่บุตร หลาน (กรณียังมีชีวิตอยู่) จากเดิมไม่กำหนดให้มีการเสียภาษี เป็นการเก็บภาษีในอัตรา 5 % จากทรัพย์สินส่วนที่เกินกว่า 10 ล้านบาทต่อปี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.84 ระบุว่า เป็นอัตราภาษีที่เหมาะสม ร้อยละ 8.33 ระบุว่าเป็นอัตราภาษีที่มากเกินไป ร้อยละ 3.76 ระบุว่าเป็นอัตราภาษีที่น้อยเกินไป ขณะที่ร้อยละ 32.03 ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีมรดก ร้อยละ 0.08 ระบุว่าควรเก็บเท่ากันกับภาษีมรดก และร้อยละ 0.96 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ
ท้ายสุด เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนว่าการเก็บภาษีมรดกจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.09 ระบุว่า จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ เพราะเป็นการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ทำให้เกิดการเอาเปรียบกันในสังคมลดลง นำเงินที่ได้จากการเก็บภาษีนั้นมาพัฒนาประเทศ เพิ่มสวัสดิการต่างๆ เกิดความเท่าเทียมกัน ส่วนร้อยละ 43.31 ระบุว่าไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ เพราะมีความแตกต่างกันอยู่แล้วในสังคม ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องความเหลื่อมล้ำ คนรวยก็มีช่องทางอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอยู่ดี และการบังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้มงวด และร้อยละ 1.60 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 20.02 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 19.94 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 20.02 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 20.02 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 20.02 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 65.49 เป็นเพศชาย ร้อยละ 34.43 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.08 เป็นเพศทางเลือก
ตัวอย่างร้อยละ 0.56 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 21.40 มีอายุ 25 – 39 ปี ร้อยละ 66.13 มีอายุ 40 – 59 ปี และร้อยละ 11.91 มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 96.62 นับถือศาสนาพุทธ ตัวอย่างร้อยละ 2.09 นับถือศาสนาอิสลาม และตัวอย่างร้อยละ 1.29 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ ตัวอย่างร้อยละ 16.57 สถานภาพโสด ตัวอย่างร้อยละ 81.34 สมรสแล้ว และตัวอย่างร้อยละ 2.09 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่างร้อยละ 5.80 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ตัวอย่างร้อยละ 14.02 มัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.66 อนุปริญญาหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 47.70 ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และตัวอย่างร้อยละ 24.82 สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 31.18 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ตัวอย่างร้อยละ 12.81 พนักงานเอกชน ตัวอย่างร้อยละ 45.12 เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ตัวอย่าง ร้อยละ 3.79 เกษตรกร/ประมง ตัวอย่างร้อยละ 2.50 รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน และตัวอย่างร้อยละ 4.59 เกษียณอายุ ตัวอย่างร้อยละ 22.50 มีรายได้ ต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท และร้อยละ 77.50 มีรายได้ต่อเดือน มากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป