กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--มาสเตอร์โพลล์
มาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สำรวจความเชื่อมั่น ความพึงพอใจและก้าวต่อไปของประเทศไทย ในสายตาของแกนนำชุมชนต่อการทำงานของรัฐบาล
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่องสำรวจความเชื่อมั่น ความพึงพอใจและก้าวต่อไปของประเทศไทยในสายตาของแกนนำชุมชนต่อการทำงานของรัฐบาลกรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 601ชุมชน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 7 – 14 พฤศจิกายน 2557ที่ผ่านมา พบว่า
เมื่อถามถึงความพึงพอใจของแกนนำชุมชนต่อการทำงานของรัฐบาลและ คสช. โดยภาพรวม ได้ 8.52 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ทั้งนี้หากพิจารณาจำแนกตามรายด้าน พบว่าอันดับที่ 1 ได้แก่ การส่งเสริมให้คนไทยดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ได้คะแนนความพึงพอใจสูงที่สุดอยู่ที่ 8.42 คะแนน อันดับที่ 2 ได้แก่ การปราบปรามผู้ใช้อาวุธสงคราม ผู้มีอิทธิพล และการปล่อยเงินกู้นอกระบบ ได้ 8.37 คะแนน อันดับที่ 3 ได้แก่ การรณรงค์การสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ ได้ 8.32 คะแนน อันดับที่ 4 ได้แก่ การจัดระเบียบสังคม ได้ 8.29 คะแนน อันดับที่ 5 ได้แก่ ความโปร่งใสและเป็นระบบในการให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรผ่าน ธ.ก.ส.ได้ 8.24 คะแนน
และรองๆ ลงมา คือ การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ได้ 8.13 คะแนน การส่งเสริมบทบาทประเทศไทยในเวทีประชาคมอาเซียน ได้ 8.11 คะแนน การปรับปรุงการทำงานของข้าราชการและผลการทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนของศูนย์ดำรงธรรม ได้ 8.08 คะแนนเท่ากัน การส่งเสริมการท่องเที่ยว และการผลักดันการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2557 และการเร่งกระบวนการใช้จ่ายงบประมาณปี 2558 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้ 8.03 คะแนนเท่ากันความพยายามในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เดินหน้า ได้ 7.99 คะแนนการดำเนินการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม ได้ 7.96 คะแนน การสร้างความสัมพันธ์ และความเชื่อมั่นระหว่างประเทศ การสร้างความเข้มแข็งภายในหน่วยงานราชการ และการเร่งแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ ตามกรอบการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ได้ 7.94 คะแนนเท่ากัน
ความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่มีอยู่ และการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนของประทศไทยในต่างประเทศ ได้ 7.93 คะแนนเท่ากัน ความคืบหน้าในการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้านโดยสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ 7.92 คะแนน การดำเนินโครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเป็นการเร่งด่วน ได้ 7.89 คะแนน การลงนามในบันทึกข้อตกลงกับกัมพูชา 3 เรื่อง (การแก้ไขปัญหาขบวนการค้ามนุษย์ การท่องเที่ยว และการเชื่อมต่อเครือข่ายเส้นทางรถไฟ) ได้ 7.88 คะแนน การจัดตั้ง “มุมประเทศไทย” หรือ Thai corner เพื่อประชาสัมพันธ์ประเทศไทย ได้ 7.87 คะแนน
นอกจากนี้การเร่งสำรวจแหล่งพลังงานใหม่ภายในประเทศ และการจัดการปัญหาขยะมูลฝอย ได้ 7.85 คะแนนเท่ากัน ความพยายามในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและลดมูลค่าการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ได้ 7.84 คะแนน การแลกเปลี่ยนประเด็นทางเศรษฐกิจและการลงทุนกับคณะนักธุรกิจ สหรัฐฯ – อาเซียน ได้ 7.81 คะแนน การส่งเสริมการลงทุนทุกขนาดของนักลงทุนต่างชาติ /นักลงทุนไทย ได้ 7.80 คะแนน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ได้ 7.79 คะแนน การต้อนรับและชี้แจงทำความเข้าใจกับนายโทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศอังกฤษ และการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างรอบด้าน ได้ 7.75 คะแนนเท่ากัน และการปรับราคาก๊าซ แอลพีจี ลิตรละ 50 สตางค์เพื่อให้เป็นไปตามกลไกตลาด ได้รับคะแนนน้อยที่สุด คือ 7.73 คะแนน ตามลำดับ
อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามความเชื่อมั่นต่อการบริหารประเทศของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พบว่า ความเชื่อมั่นอันดับแรก หรือร้อยละ 93.7 คือ การวางยุทธศาสตร์ประเทศในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน รองลงมา หรือร้อยละ 93.3 การสร้างอนาคตที่ดี และเตรียมความพร้อมให้กับประเทศและรัฐบาลชุดต่อไปเข้ามาสานต่อ ร้อยละ 85.6 การแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่า ร้อยละ 83.0 การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจการค้า ทั้งการนำเข้าและส่งออก ร้อยละ 82.1 การพัฒนาระบบราชการ ร้อยละ 81.1 การบริหารจัดการพลังงาน ร้อยละ 80.1 การส่งเสริมและพัฒนาด้านภาษาให้กับแรงงานไทย และร้อยละ 74.1 การแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตามลำดับ
ประเด็นที่น่าพิจารณา คือ เมื่อสอบถามถึงก้าวต่อไปของประเทศไทยที่อยากเห็น พบว่า อันดับที่ 1 หรือร้อยละ 78.3 อยากเห็นคนไทยระดับรากหญ้ามีรายได้เพิ่มขึ้น คนรวยใส่ใจคนจนให้มากขึ้น อันดับที่ 2 หรือร้อยละ 72.7 อยากเห็นการหยุดสร้างเงื่อนไขความรุนแรงของคนในชาติ อันดับที่ 3 หรือร้อยละ 65.7 อยากให้มีการกระจายทรัพยากรให้โอกาสประชาชนทั่วไปอย่างเท่าเทียมกัน อันดับที่ 4 หรือร้อยละ 58.5 อยากเห็นความพร้อมของคนไทยและเจ้าหน้าที่รัฐในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ อันดับที่ 5 หรือร้อยละ 52.2 อยากเห็นการยึดกระบวนการยุติธรรมในการคลี่คลายปัญหาบ้านเมือง ตามลำดับ