กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทีจีส์
ปัจจุบันจำนวนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอียึดพื้นที่กว่าร้อยละ 90 ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศไทย จึงไม่น่าแปลกใจว่าหนึ่งในกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งคือทำอย่างไรให้ธุรกิจโดดเด่นท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้น แบรนด์เครื่องหนังไทย BagSpace เป็นหนึ่งในหลายๆ ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ผ่านการใช้ประโยชน์จากการสร้างเพจบน Facebook และเลือกใช้ฟีเจอร์ต่างๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และช่วงเวลา โดยหลังจากที่ประสบความสำเร็จในตลาดเมืองไทยได้ไม่นาน BagSpace ได้ขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เคล็ดลับความสำเร็จของ BagSpace แบ่งเป็น 4 ส่วนหลัก นั่นคือ เนื้อหา การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย การขยายธุรกิจ และการปรับตัวให้เข้ากับตลาด ซึ่งเอสเอ็มอีไทยสามารถนำไปปรับใช้กับการสร้างแบรนด์บน Facebook ได้เช่นกัน
เนื้อหา (Content)
“เนื้อหาคือสิ่งที่สำคัญที่สุด” (Content is always king) คือคำกล่าวที่เป็นพื้นฐานของการสร้างตัวตนของแบรนด์และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แบรนด์โดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่ง วิธีที่ดีที่สุดในการดึงดูดผู้เข้าชมมายังเพจคือการสร้างเนื้อหาที่เป็นรูปภาพ เพื่อสื่ออัตลักษณ์ของแบรนด์และสินค้าได้อย่างเต็มที่ โดยควรเป็นรูปภาพที่เป็นต้นฉบับเฉพาะของแบรนด์ มีความสวยงามและสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการเลือกใช้รูปภาพหน้าปก (cover photo) และรูปภาพประจำตัว (profile photo)
“เมื่อลูกค้าเลือกซื้อกระเป๋าหนัง พวกเขาจะอยากลองถือ สัมผัส เช็ครายละเอียดด้านใน หรือบางคนก็อยากดมกลิ่นหนังเพื่อประกอบการตัดสินใจ แต่การซื้อของออนไลน์ไม่มีทางเลือกอื่นให้นอกจากการใช้ตามองเท่านั้น” คุณปกรณ์ กิตติประสาธน์ หนึ่งในหุ้นส่วน BagSpace อธิบาย “นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมการใช้รูปภาพในการสื่อสารจึงเป็นกลยุทธ์ในการขายและการตลาดที่สำคัญของ BagSpace การใช้รูปภาพที่มีคุณภาพช่วยให้เราขายได้มากกว่าสินค้า แต่รวมถึง “ไลฟ์สไตล์” ที่ลูกค้าของเราต้องการ”
นอกเหนือจากการใช้รูปภาพ BagSpace เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างผ่านการใช้วิดีโอที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของแบรนด์และแนวคิดของผลิตภัณฑ์แต่ละตัว ปัจจุบันการใช้วิดีโอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิดีโอบนแพลตฟอร์มมือถือนั้น เป็นเทรนด์การตลาดที่กำลังมาแรง การผสมผสานเสียง การเคลื่อนไหว และภาพเข้าด้วยกันก่อให้เกิดประสบการณ์เชิงลึกเฉพาะบุคคลและสร้างแรงบันดาลให้กับผู้ชมได้มากกว่า ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับลูกค้า ส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ และที่สำคัญที่สุดคือช่วยเพิ่มยอดขายให้กับแบรนด์ในที่สุด
อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับวิดีโอได้ที่: https://www.facebook.com/help/154271141375595/
การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Targeting)
การเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้องเป็นอีกหนึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จของธุรกิจ หัวใจสำคัญไม่ใช่การเข้าถึงผู้คนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เป็นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจหรือมีความเป็นไปได้ว่าอาจสนใจในผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ ขั้นตอนแรกในการกำหนดกลุ่มผู้รับสารเป้าหมายคือการตีกรอบตัวตนของกลุ่มเป้าหมายในเชิงประชากรและเชิงจิตวิทยา ซึ่งประกอบไปด้วยเกณฑ์ต่างๆ เช่น อายุ ที่อยู่อาศัย ความสนใจ พฤติกรรม เป็นต้น การกำหนดลักษณะของกลุ่มเป้าหมายนี้จะช่วยให้เจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีดึงประสิทธิภาพของเครื่องมือกำหนดกลุ่มเป้าหมายของ Facebook ออกมาได้อย่างเต็มที่
“ในระยะแรกของการดำเนินธุรกิจ เราตระหนักว่าการตีกรอบกลุ่มผู้รับสารให้แคบลง เพื่อให้เข้าถึงเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเป็นสิ่งสำคัญ เราจึงใช้เครื่องมือในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายของ Facebook เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เรากำหนดไว้ นั่นคือผู้ชายวัยสามสิบ ซึ่งมีหน้าที่การงานมั่นคง มีกำลังซื้อปานกลางถึงสูงและชื่นชอบผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบอย่างประณีต รวมถึงใส่ใจในคุณภาพของสินค้า” คุณปกรณ์กล่าว
อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ที่ลิงค์: https://www.facebook.com/help/433385333434831/
การขยายธุรกิจ (Expand)
หากธุรกิจของคุณได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักในประเทศแล้ว อีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจคือการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มการตลาดออนไลน์ เพื่อข้ามข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ และเดินหน้าทดลองตลาดใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม การขยายธุรกิจมักมาพร้อมกับความท้าทายเสมอ ซึ่งสามารถเอาชนะได้ด้วยการใช้เครื่องมือการตลาดที่เหมาะสม
ก่อนที่จะขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถทดลองทำแคมเปญในตลาดใหม่ต่างๆ เพื่อวัดกระแสตอบรับว่าแบรนด์มีแนวโน้มและโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในตลาดใดมากที่สุด ผู้ประกอบการสามารถใช้เครื่องมือประเมินผลของ Facebook เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนการลงทุน โดยเน้นพิจารณาผลลัพธ์ด้านการเปลี่ยนมาเป็นลูกค้า (Conversion) และการมีส่วนร่วม (Engagement) ของกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ
“ความสำเร็จบนช่องทางออนไลน์ในประเทศไทยทำให้เราทราบว่าเราสามารถขายสินค้าของเราได้ทุกที่ผ่าน Facebook” คุณปกรณ์กล่าว “ดังนั้น เราจึงใช้ Facebook ต่อยอดความสำเร็จและนำเราไปสู่กลุ่มเป้าหมายในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีลักษณะทางประชากรที่ใกล้เคียงกับกลุ่มลูกค้าของเรา จากนั้นจึงเปรียบเทียบผลที่ได้รับจากการทำแคมเปญออนไลน์ในแต่ละประเทศ ซึ่งช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่า นี่คือเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะขยายธุรกิจสู่ประเทศอินโดนีเซีย”
ภายหลังจากการทำแคมเปญโฆษณาบน Facebook ในอินโดนีเซีย BagSpace ได้รับผลตอบแทนมากถึง 10 เท่าของงบประมาณที่ใช้ในการลงทุน
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องมือในการวัดผลและประเมินแคมเปญโฆษณาได้ที่ https://www.facebook.com/help/141957182569977
การปรับตัวให้เข้ากับตลาด (Localisation)
“เมื่อเราเริ่มเข้าไปทำตลาดในอินโดนีเซีย เราตระหนักอยู่เสมอว่า การปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่นไม่ใช่แค่การแปลภาษาเท่านั้น แต่รวมถึงแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าท้องถิ่น พฤติกรรม วัฒนธรรม ไปจนถึงวิธีการชำระเงิน การจัดส่ง และช่องทางในการติดต่อสอบถามที่เป็นที่นิยม” คุณปกรณ์อธิบาย
BagSpace ปรับเพจบน Facebook และเว็บไซต์ให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายชาวอินโดนีเซียด้วยการเพิ่มช่องทางการชำระเงินซึ่งได้รับความนิยมเฉพาะในอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังพบว่า การใช้บีบีพิน (BB Pin) เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายสำหรับกลุ่มเป้าหมาย BagSpace จึงเพิ่มช่องทางการติดต่อด้วย BB Messenger เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าชาวอินโดนีเซีย รวมถึงจ้างพนักงานที่สามารถพูดภาษาบาฮาซาเพื่อบริการลูกค้าผ่านช่องทางคอลล์ เซ็นเตอร์อีกด้วย ผลลัพธ์คือ BagSpace สามารถสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักอย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มยอดขายในตลาดอินโดนีเซียได้อย่างแข็งแกร่ง