กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (3 ส.ค.48) นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง ในฐานะคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2549 เปิดเผยว่า ในการประชุมวานนี้ (2 ส.ค.48) ที่ประชุมได้พิจารณางบประมาณของสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร สำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย โดยในส่วนของสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญคือในส่วนของกองการเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโยกย้ายและแต่งตั้งบุคลากร โดยเห็นว่าควรจัดคนให้เหมาะกับงานเพื่อให้งานสามารถพัฒนาไปได้
ทั้งนี้ตามยุทธศาสตร์ของผู้ว่าฯที่จะพัฒนาด้านต่าง ๆ ถ้าหากขาดบุคลากรที่เหมาะสม ไม่มีความสามารถ ถึงจะมีงบฯ แต่ก็อาจทำให้โครงการล่าช้าได้ สำหรับในส่วนของกองปกครอง และทะเบียน คณะกรรมการฯ ก็ได้ให้ความสำคัญเช่นเดียวกันเพราะอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็จะมีการเลือกตั้ง ส.ข. ใน 14 เขต การเลือกตั้ง ส.ว. และ ส.ก.ที่จะเกิดขึ้นต่อ ๆ กันในช่วงปีหน้า ประเด็นที่คณะกรรมการฯเป็นห่วงคือจำนวนประชากรที่ชัดเจน เพราะจากการสำรวจอย่างคร่าว ๆ พบว่าบางเขตซึ่งเดิมมีส.ก.ได้ 2 คนแต่เมื่อประชากรในเขตนั้นลดลงทำให้ต้องลดจำนวน ส.ก.เหลือเพียงคนเดียว จึงอยากให้กองปกครองสำรวจจำนวนประชากรล่าสุดให้ชัดเจนว่าแต่ละเขตมีประชากรเท่าใด
ทั้งนี้มีหลายอย่างที่คณะกรรมการฯ ได้ตั้งข้อสังเกตแล้วหน่วยงานนำไปปฏิบัติทำให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความง่ายขึ้น อาทิ กองประชาสัมพันธ์ ซึ่งได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้ว่าขณะนี้สภากทม.กำลังอยู่ในระหว่างการประชุมเพื่อพิจารณางบประมาณของกรุงเทพมหานคร บางครั้งส.ก.ก็ไม่สามารถไปตามที่ถูกเชิญมาได้เนื่องจากต้องพิจารณาตั้งแต่ 15.00 น. ถึงประมาณ 23.00 น. ทุกวัน และหากใครเป็นคณะอนุกรรมการด้วยก็จะต้องเริ่มประชุมคณะอนุฯตั้งแต่เช้า บ่ายก็ต้องประชุมคณะใหญ่ต่อ ซึ่งอาจทำให้ส.ก.บางท่านไม่มีเวลาไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เขตของตนเองได้นอกจากในวันเสาร์ — อาทิตย์ ซึ่งทางกองประชาสัมพันธ์ก็ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจมากขึ้น
ส.ก.เขตจอมทอง กล่าวอีกว่า สำหรับสำนักการแพทย์ ได้ของบประมาณในภาพรวม 2 พันกว่าล้านบาท เพื่อซื้ออุปกรณ์ ในการช่วยเหลือชีวิต ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นควรด้วยสำหรับการจัดซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ จึงไม่ค่อยได้ตัดงบในส่วนนี้ แต่สิ่งที่คณะกรรมการฯได้ตั้งข้อสังเกตคือการขาดแคลนบุคลากร เพราะหากโรงพยาบาลสังกัดกทม.มีอุปกรณ์พร้อมทุกอย่างแต่ขาดแคลนบุคลากรที่จะมาปฏิบัติงานก็คงจะประสบผลสำเร็จ ตนเห็นว่าสำนักการการแพทย์ควรต้องหารือกับกก. ปลัดกทม.หรือรองผู้ว่าฯที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันพัฒนาอย่างจริงจัง นอกจากนี้การให้บริการของแต่ละโรงพยาบาลก็มักล่าช้าตั้งแต่ขั้นตอนของการยื่นบัตรจนถึงการรับยา แต่เดิมแย่กว่านี้มากภายหลังการจัดซื้อระบบบัตรคิวทำให้ดีขึ้นบ้าง หากเป็นไปได้ตนอยากให้ทุกโรงพยาบาลจัดระบบเหมือนจุดบริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ตามสำนักงานเขตก็จะทำให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ในส่วนของสำนักอนามัย คณะกรรมการฯได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการให้บริการของศูนย์บริการสาธารณสุขสาขาต่าง ๆ ซึ่งมีประชาชนร้องเรียนมากว่าการบริการยังไม่ดีพอ และตามที่ได้สอบถามกับหน่วยงานนั้น ๆพบว่าสาเหตุหนึ่งคือการขาดแคลนแพทย์ที่จะประจำศูนย์ฯ บางแห่งที่จะเป็นแพทย์เป็นหัวหน้าศูนย์กับต้องการเป็นพยาบาล และอีกสาเหตุหนึ่งคือการห่างไกลจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงทำให้เจ้าหน้าที่ขาดแรงจูงใจและแรงกระตุ้นในการทำงาน ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่าสำนักอนามัยควรต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการชี้แจงให้ละเอียดมากขึ้นจึงได้เลื่อนการประชุมพิจารณาในส่วนของสำนักอนามัยต่อในวันที่ 4 ส.ค.48
สำหรับในวันนี้ที่ประชุมได้พิจารณางบประมาณในส่วนสำนักการโยธางบประมาณจำนวน 5,365,674,800 บาท และ สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว จำนวน 1,189,430,400 บาท
สามารถคลิกดูภาพได้ที่ www.thaipr.net--จบ--