กรุงเทพ--11 เม.ย.--ธ.ก.ส.
ธ.ก.ส.ปลื้มผลงานรวมรวมผลผลิตข้าวจากสมาชิกของ สกต. ชี้ช่วยดัน ราคาข้าวเพิ่มสูง พร้อมสร้างอำนาจต่อรองทางการตลาด ดึงพืชเกษตรอีก 23 ชนิด เข้าสู่ระบบเพื่อสร้างกลไกตลาดที่เป็นธรรมและลดความเสียเปรียบของเกษตรกรใน อนาคต
นายมนัส ใจมั่น ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงโครงการที่ ธ.ก.ส.สนับสนุนให้เกษตรกรลูกค้า รวมตัวกัน จัดตั้งสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดหรือ สกต.ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ให้เกษตรกร ลูกค้า ธ.ก.ส.มีองค์กรของตนเองเพื่อดำเนินธุรกิจด้านการตลาด การสร้างอำนาจ ต่อรองด้านราคา ตลอดจนเสริมสร้างความรู้และประสบการณ์ทางด้านการค้าอันเป็น สิ่งจำเป็นสำหรับผู้ผลิตในปัจจุบัน ซึ่งผลการดำเนินงานของ สกต. โดยเฉพาะธุรกิจ การรวบรวมผลผลิตได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เช่น โครงการรวบรวมข้าวเปลือกจาก สมาชิกของ สกต. 11 แห่งคือ สกต. สุรินทร์ สกลนครเขต 1 และเขต 2 นครราชสีมาเขต 2 ร้อยเอ็ด ยโสธร กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และเพชรบูรณ์ เขต 2 นำไปส่งขายให้กับผู้รับซื้อรายใหญ่โดยตรง คือ บริษัท เกษตร รุ่งเรืองพืชผล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ส่งออกข้าวสารไปต่างประเทศ ซึ่งผล จากการดำเนินงานดังกล่าว ทำให้เกษตรสามารถขายข้าวได้ในราคาที่น่าพอใจ สามารถตัดปัญหาพ่อค้าคนกลาง และมีอำนาจต่อรองที่จะเลือกขายผลผลิตให้กับผู้ซื้อที่ ให้ราคาที่เป็นธรรมได้ ขณะเดียวกันด้านผู้รับซื้อก็พอใจ เพราะสามารถซื้อผลผลิตได้ คราวเดียวตามจำนวนที่ต้องการ
จากความสำเร็จของ สกต.ทั้ง 11 แห่ง ได้มีการขยายผลไปยัง สกต. อีก 12 แห่งคือ สกต.มหาสารคาม พิจิตรเขต 1 และเขต 2 ปราจีนบุรี นครนายก เชียงรายเขต 2 สุพรรณบุรี มุกดาหาร อุทัยธานี สระบุรี ลพบุรี และอ่างทองด้วย ซึ่งผลการดำเนินธุรกิจรวบรวมข้าวเปลือกของ สกต. ทั้ง 23 แห่ง ตั้งแต่ 1 เมษายน 2539 ถึง กุมภาพันธ์ 2540 มีจำนวนทั้งสิ้น 10,611 ตัน คิดเป็นมูลค่าถึง 62.5 ล้านบาท
นายมนัส กล่าวต่อไปว่า นอกจากธุรกิจรวบรวมข้าวเปลือกแล้ว สกต. ในจังหวัดต่าง ๆ ยังได้ขยายรูปแบบการดำเนินธุรกิจไปยังสินค้าเกษตรที่สำคัญอื่น ๆ ด้วย เช่น ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง กาแฟ ยางพารา โคเนื้อ มันฝรั่ง ใบตะไคร้แห้ง ไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ และกิ่งพันธุ์ รวมแล้วกว่า 23 ชนิด
"การดำเนินธุรกิจดังกล่าว เป็นการเปลี่ยนรูปแบบวิธีการขายผลผลิต จากเดิมซึ่งมีลักษณะต่างคนต่างขาย ในปริมาณไม่มาก ซึ่งทำให้เกษตรกรเสียเปรียบ มาเป็นลักษณะการรวมกันขายในปริมาณมาก ๆ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางการตลาด ซึ่งผลประโยชน์จะตกกับเกษตรกรโดยตรง อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจรวมกันขาย เป็นเรื่องค่อนข้างยุ่งยาก และละเอียดอ่อนจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วย งานที่เกี่ยวข้องช่วยกันสนับสนุนส่งเสริมและเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์แก่เกษตรกร และสถาบันเกษตรกร เพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้ด้วยตนเอง ตลอดจนสามารถเชื่อมโยง ธุรกิจระหว่างสถาบันเกษตรกร ด้วยกันเอง ซึ่งจะทำให้ตลาดของเกษตรกรแข็งแกร่ง กว้างขวาง และมีพลังต่อรองมากขึ้นด้วย" นายมนัส กล่าว--จบ--