กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
จากกราฟช่วงปี 2554 ถึงปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของไทยมีแนวโน้มลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน ณ วันที่ 17 พ.ย. 2557 อัตราดอกเบี้ยนโยบาย = 2.00% เงินฝากออมทรัพย์เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ = 0.125-2.700 และเงินฝากประจำ 12 เดือน = 1.50 - 2.95 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารแทบจะไม่ลดลงเลย ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ MOR = 7.88, MLR = 7.28, MRR = 8.50, สูงสุด และผิดนัดเฉลี่ย = 22.81%, 25.09% ตามลำดับ (ไม่นับรวม ค่าธรรมเนียมจัดการให้กู้ 2-3% และอื่นๆ) ขณะที่อัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เฉลี่ยธนาคารพาณิชย์ไทย อยู่ที่ 2.74% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับประเทศในภูมิภาคอย่างสิงคโปร์ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยข้อมูลเปรียบเทียบไตรมาสที่ 3 ปี 2557 ของไทยอยู่ที่ 2.74% ขณะที่สิงคโปร์ อยู่ที่ 1.65%
จากการทดสอบความสัมพันธ์ของอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิเฉลี่ยธนาคารพาณิชย์ไทย กับการลงทุนภายในประเทศ พบว่า อัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิเฉลี่ย ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการลงทุนภายในประเทศที่ลดลง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการจ้างงาน และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อีกทั้งการดำเนินกิจการของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจที่จำเป็นต้องกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ยังต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่สูง ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนที่สูงในการดำเนินงานของกิจการ ขณะที่การฝากเงินของครัวเรือน และภาคธุรกิจกลับได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝากในอัตราที่ต่ำ
อัตราส่วนต่างดอกเบี้ยของดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไทยที่มากเกินไป ย่อมส่งผลทางบวกต่อธนาคาร และในทางตรงกันข้ามย่อมส่งผลกระทบทางลบต่อภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาคเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน จำเป็นต้องให้เกิดความสมดุลของทุกภาคส่วน ทั้งนี้หากผลักภาระต้นทุนของดอกเบี้ยให้แก่ครัวเรือน และภาคธุรกิจ ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของกิจการ และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบเศรษฐกิจโดยภาพรวมของประเทศ ดังนั้นธนาคารพาณิชย์ไทยควรดำเนินนโยบายดอกเบี้ยที่สร้างสรรค์ โดยการกำหนดประโยชน์ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ฝากเงินและผู้กู้เงิน อันจะส่งผลให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในระบบสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง