กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ลงนามความร่วมมือ “การส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน” เพื่อดำเนินกิจกรรมและโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมของประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการส่งเสริมให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้มากขึ้น ภายใต้การขับเคลื่อนนโยบาย SMEs วาระแห่งชาติ
นายสุพันธุ์ มลคลสุธี ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่สภาอุตสาหกรรมฯ ได้นำเสนอถึงความสำคัญของ SMEs ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและปัญหาอุปสรรคของการพัฒนา SMEs ไทย และผลักดัน SMEs ให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลได้มีมติประกาศให้นโยบาย SMEs เป็นวาระแห่งชาติเรียบร้อยแล้วนั้น เพื่อเป็นการเดินหน้ายกระดับ SMEs และขานรับนโยบาย SMEs วาระแห่งชาติอย่างเป็นรูปธรรม สภาอุตสาหกรรมฯ จึงได้นำเสนอมาตรการต่างๆ ในการขับเคลื่อน SMEs ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอ คือ ส่งเสริมให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้มากขึ้น ซึ่งได้ดำเนินการในเชิงลึกโดยการหารือกับหน่วยงานด้านการเงินอย่างต่อเนื่อง อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ธนาคารพาณิชย์ และการหารือความร่วมมือ 4 หน่วยงาน ซึ่งได้แก่ สภาอุตสาหกรรมฯ เอสเอ็มอีแบงก์ บสย. และ สสว. ซึ่งที่ผ่านมาได้มีข้อเสนอและมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่สามารถผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมแล้วในหลายมาตรการ โดยสภาอุตสาหกรรมฯ คาดหวังว่าตลอดระยะเวลา 2 ปี ของกรอบความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะก่อเกิดกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อ SMEs ทั่วประเทศ โดยเฉพาะสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมฯ เอง ที่จะได้รับการอำนวยความสะดวก การบริการที่รวดเร็วและสินเชื่อรูปแบบใหม่ๆ ที่ตรงความต้องการของ SMEs อย่างแท้จริง จาก เอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมฯ จะทำหน้าที่คัดกรองสมาชิกที่มีศักยภาพสำหรับเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของโครงการต่อไป
นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ เอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ธนาคารพร้อมสนับสนุนในส่วนของเงินให้สินเชื่อแก่ SMEs รายย่อย โดยธนาคารได้จัดโปรแกรมสินเชื่อ 9 เมนู มาตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2557 ขณะนี้มี SMEs สนใจยื่นคำขอแล้ว 6,513 ราย เป็นเงิน 10,975 ล้านบาท และธนาคารสามารถอนุมัติสินเชื่อได้แล้ว 4,615 ราย เป็นเงิน 4,489 ล้านบาท ลูกค้าส่วนใหญ่เป็น OTOP ในต่างจังหวัด ซึ่งหลายรายไม่มีหลักประกัน จึงใช้วิธีค้ำประกันกับ บสย.นอกเหนือจากการให้สินเชื่อแล้ว เอสเอ็มอีแบงก์ได้เปิดตัวโครงการร่วมลงทุนกับ SMEs รายย่อยในวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่ง ส.อ.ท.สามารถนำเสนอ SMEs ที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการร่วมลงทุนของธนาคารได้