กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา สุดเจ๋ง ใช้แบบจำลองทางคณิตฯ แก้ปัญหาโรคซาร์ในฮ่องกง เผยช่วยพยากรณ์การระบาดของโรคในอนาคต สร้างมาตรการป้องกันควบคุมโรค
นายอดิศักดิ์ เด็นเพ็ชรหน๋อง อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงงานวิจัย การศึกษาแบบจำลองการระบาด SEIRS กับการติดเชื้อที่สัมพันธ์กับการเดินทาง (On the dynamics of SEIRS epidemic model with transport-related infection)โดยนำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่พัฒนาขึ้น ไปประยุกต์ใช้กับโรคที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งงานวิจัยครั้งนี้นำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาโรคซาร์ (SAR) ที่เกิดขึ้นในประเทศฮ่องกง โดยพัฒนาแบบจำลองการระบาดที่มีชื่อว่า “SEIRS” แบ่งประชากรออกเป็น 4 กลุ่มย่อย ตามสถานการณ์ระบาดของโรค คือ กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ (Susceptible) กลุ่มฟักตัวของเชื้อ (Exposed) กลุ่มติดเชื้อ (Infectious) และกลุ่มที่หายจากการเป็นโรค (Recovered) ผู้วิจัยได้ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการระบาดของโรค เมื่อมีการเดินทางจากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง เช่น อัตราการเกิด การย้ายถิ่น การตาย และการติดเชื้อ เป็นต้น นำข้อมูลใส่ลงไปในแบบจำลองที่พัฒนามาได้ จากนั้นทำการแปลงแบบจำลองที่พัฒนามาได้ให้อยู่ในรูปสมการทางคณิตศาสตร์ และทำการวิเคราะห์มเสถียรภาพทางคณิตศาสตร์ของแบบจำลอง
นายอดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อทำการศึกษาผลเชิงตัวเลขของแบบจำลอง โดยนำแบบจำลองที่พัฒนามาได้ไปประยุกต์ใช้กับโรคที่เกิดขึ้นจริง พบว่าแบบจำลองสามารถพยากรณ์ถึงจำนวนผู้ป่วยได้ใกล้เคียงกับการระบาดที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการระบาด จะมีบทบาทต่อการพัฒนาด้านสาธารณสุขในส่วนของการพยากรณ์การระบาดของโรคในอนาคต ทำให้สามารถคาดการณ์จำนวนผู้ที่ติดเชื้อและพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เพื่อช่วยประเมินประสิทธิผลของมาตรการการป้องกันควบคุมการระบาด ตลอดจนการเตรียมการณ์ล่วงหน้า เพื่อรับมือหรือปรับเปลี่ยนมาตรการให้เหมาะสมแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องข้อง เพื่อลดความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรค โดยงานวิจัยในครั้งนี้ได้นำไปตีพิมพ์ในวารสาร นานาชาติ Mathematical Bioscinces