กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า แม้โอกาสในการพบการติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศไทยจะมีไม่มากนัก แต่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้วางมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าวไว้อย่างเข้มข้น ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ที่ดูแลป้องกันโรคติดเชื้ออีโบลาในสัตว์ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ติดตามสถานการณ์การระบาดโรคนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมวางมาตรการป้องกันการระบาดในสัตว์ไว้ล่วงหน้า ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ได้เริ่มดำเนินการเสนอให้มีการพิจารณาออกกฎกระทรวง ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499 กำหนดให้เพิ่มเติมโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เป็นโรคระบาดสัตว์ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งล่าสุดได้ผ่านการเห็นชอบจากรองนายกรัฐมนตรีให้เสนอเข้าคณะรัฐมนตรีแล้ว และเข้าสู่การวาระพิจารณาของ สนช. ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน จะได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อประกาศใช้เป็นกฏหมายต่อไป
สำหรับในส่วนของมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในสัตว์นั้น กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ได้เพิ่มความเข้มงวดมาตรการควบคุมการนำเข้า นำผ่านสัตว์และซากสัตว์จากต่างประเทศ โดยการชะลอการนำเข้าสินค้าตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์จากทุกประเทศในทวีปแอฟริกา ยกเว้นประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เพิ่มความเข้มงวดและเฝ้าระวังการลักลอบการนำเข้าสินค้า โดยการตรวจสอบบุคคล สัมภาระ และยานพาหนะ โดยเฉพาะด่านพรมแดน นอกจากนี้ ยังให้ดำเนินการทำลายเชื้อโรค ยานพาหนะที่ผ่าน เข้า – ออก ณ ด่านพรมแดน ให้ทีมสุนัขดมกลิ่นเข้มงวดและกวดขันการปฏิบัติการตรวจสอบ ผู้โดยสารและสัมภาระ ในเที่ยวบินที่มาจากประเทศที่มีรายงานการระบาดและประเทศกลุ่มเสี่ยงต่อการระบาดของโรค รวมทั้งประสานขอความร่วมมือผู้ประกอบการสายการบิน สายการเดินเรือและผู้ประกอบการขนส่ง ค้าสัตว์และซากสัตว์ ห้ามนำเข้า นำผ่านสัตว์และซากสัตว์จากประเทศที่มีการระบาดของโรคไวรัสติดเชื้ออีโบลา และในการนำเข้านำผ่านสินค้าทุกครั้งต้องได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์
ด้านนายสัตวแพทย์อยุทธ์ หรินทรานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้เตรียมความพร้อมและเพิ่มศักยภาพของห้องปฏิบัติการในการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ มีห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 และเครื่อง Real time RT-PCR สำหรับตรวจตัวอย่าง มีรถปฏิบัติการเคลื่อนที่ระดับ 3 ภายในมีตู้ชีวนิรภัยระดับ 3 สำหรับการผ่าซากและเก็บตัวอย่าง มีตู้ชีวนิรภัยระดับ 2 สำหรับการเตรียมตัวอย่าง และมีเครื่อง Real time RT- PCR สำหรับตรวจตัวอย่าง รวมทั้ง มีการจัดฝึกอบรมการปฏิบัติงานภายใต้หลักการความปลอดภัยทางชีวภาพแก่เจ้าหน้าที่ผู้เก็บตัวอย่างในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ทางห้องปฏิบัติการ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนรวมทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในประเทศด้วย.