กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนตุลาคม 2557 จำนวน 1,144 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 25.9,43.7 และ 30.4 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 49.4,11.9,12.0,11.5 และ 15.2 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 82.9 และ 17.1 ตามลำดับ ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 87.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 86.1 ในเดือนกันยายน โดยค่าดัชนีฯที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากที่ปรับตัวลดลง 2 เดือนติดต่อกัน ปัจจัยบวกจากคำสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจช่วงปลายปี ในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็คทรอนิกส์และโทรคมนาคม รวมทั้งการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านที่ขยายตัวดีขึ้น ขณะเดียวกันราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าระดับความเชื่อมั่นจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่จากการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการเห็นว่าการเร่งรัดแผนการลงทุนและการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ เป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว และสร้างความเชื่อมั่นต่อการขยายการลงทุนของภาคเอกชน
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 105.7 เพิ่มขึ้นจาก 104.7 ในเดือนกันยายน โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนตุลาคม 2557 จากการสำรวจพบว่าค่าดัชนีของอุตสาหกรรมทุกขนาด ทั้งอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน
โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 80.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 78.5 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และหัตถอุตสาหกรรม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.5 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 103.9 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง จากผลการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 85.6 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 85.0 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมน้ำตาล เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.3 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 104.1 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 96.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 93.9 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมเคมี และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ อยู่ที่ระดับ 108.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 106.3 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนตุลาคม 2557 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯของทุกภาคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน
ภาคกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 87.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 85.9 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้นในเดือนนี้ ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีฯปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากมียอดส่งออกสินค้า ประเภทไก่สดแช่แข็งและสัตว์ปีก ปลาทูน่ากระป๋อง ผักและผลไม้ ไปยังตลาดอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป เพิ่มขึ้น ขณะที่เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น นมถั่วเหลือง น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง มียอดการส่งออกไปอาเซียนเพิ่มขึ้น ด้านอุตสาหกรรมพลาสติก ผลิตภัณฑ์ประเภทถุงพลาสติก ขวดพลาสติก มียอดคำขายในประเทศเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการจัดโปรโมชั่นลดราคาช่วงใกล้สิ้นปี ขณะที่ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เช่น สบู่ ครีมกันแดด มียอดการส่งออกไปประเทศ มาเลเชีย ลาว เวียดนาม เพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.8 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 105.1 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้นในเดือนนี้ ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคเหนือ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 89.7 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 89.1 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ค่าดัชนีฯปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มียอดสั่งซื้อเส้นด้าย ผ้าผืน ในประเทศเพิ่มขึ้น และยอดสั่งซื้อเสื้อกันหนาวจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา เพิ่มขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมเซรามิก สินค้าประเภทของที่ระลึกเซรามิกมียอดส่งออกไปประเทศอาเซียน ญี่ปุ่น และยุโรปเพิ่มขึ้น เนื่องจากใกล้เข้าสู่เทศกาลปีใหม่ ด้านอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ มียอดสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูป ในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีดีไซต์ที่หลากหลายและทันสมัยตรงกับความต้องการของลูกค้า ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 105.4 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 88.8 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 88.1 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีฯปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลเปิดหีบอ้อย ด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ชิ้นส่วนเครื่องจักรประเภทเครื่องสีข้าวและรถไถนา มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงปลายปีเกษตรกรมีการปรับปรุงซ่อมแซมเครื่องจักร ด้านอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น สินค้าประเภทเครื่องปรับอากาศ และคอมเพรสเซอร์ มียอดคำสั่งซื้อจากตลาดสหรัฐอเมริกา เอเชีย ยุโรปเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 104.7 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออก มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 97.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 96.0 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีฯปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็คทรอนิกส์และโทรคมนาคม เนื่องจากสินค้าประเภท Monolithic IC, Hard Disk Drive มียอดการส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกา อาเซียน เพิ่มขึ้น ขณะที่สินค้าประเภทโทรทัศน์ และเครื่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล มียอดขายและคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขายช่วงปลายปีในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ขณะที่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าประเภทพลอย ทับทิม เครื่องประดับเงิน มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศรัสเซีย ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เพิ่มขึ้น นอกจากนี้อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ มียอดสั่งซื้อเครื่องจักรกลแปรรูปอาหาร เครื่องจักรกลบรรจุภัณฑ์ และเครื่องจักรกลพื้นฐาน จากตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.9 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 105.2 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ด้าน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ตุลาคมอยู่ที่ระดับ 76.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 72.8 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ค่าดัชนีฯปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปและแช่แข็ง สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นจากตลาดสหรัฐฯและยุโรป ด้านอุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ ประเภทไม้ยางพาราแปรรูป มีคำสั่งซื้อจากตลาดหลักอย่างจีนเพิ่มขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น สินค้าประเภท ไม้แผ่นบาง ไฟเบอร์บอร์ด และไม้อัด มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 102.6 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ในเดือนตุลาคม ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศและกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้ง 2 กลุ่ม จากในเดือนกันยายน
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 85.9 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 85.7 ในเดือนกันยายนองค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร,อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ,อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 105.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 104.0 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม อยู่ที่ 95.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 87.8 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม อุตสาหกรรมเคมี และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 108.4 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 108.1 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2557 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน และสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนตุลาคมนี้ คือ ให้ภาครัฐเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทยและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก รวมถึง เจรจาเขตการค้าเสรี กับประเทศที่มีศักยภาพเพื่อกระตุ้นการส่งออกและการลงทุนของไทย และส่งเสริมการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย