กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ผนึกกำลังยกระดับอุตสาหกรรมผ้าไทย เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมแฟชั่น สู่เป้าหมายประเทศชั้นนำของโลกด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอครบวงจร พร้อมจัดงาน “แฟชั่น แฟบริค เน็ตเวิร์ก 2014” (Fashion Fabric Network 2014) งานแสดงผ้าผืนครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย หวังเทียบชั้นงานแสดงผ้าผืนระดับโลก พรีเมียร์ วิช๊อง (Premiere Vision) ของฝรั่งเศส เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตผ้าผืนให้เชื่อมโยงความต้องการของผู้ผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นแบรนด์ชั้นนำในประเทศได้ โดยไม่ต้องนำเข้าผ้าผืนจากต่างประเทศ ตั้งเป้ายกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่ศูนย์รวมการออกแบบแฟชั่นของอาเซียน โดยงานดังกล่าว ประกอบด้วย กิจกรรมต่างๆ ได้แก่ โซนจัดแสดงผ้าผืนของผู้เข้าร่วมโครงการ โซนนิทรรศการผ้าผืนสำหรับ Autumn 2015 / Winter 2016 โซนสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับเทรนด์แฟชั่น และโซน เจรจาธุรกิจ โดยมีแบรนด์แฟชั่นชั้นนำเข้าร่วมงานจำนวนมาก อาทิ ดีเอพีพี (DA+PP) เกรย์ฮาว (Greyhound) อิชชู(Issue) ยัสปาล (Jaspal) บลู คอนเนอร์ ซึ่งคาดว่างานดังกล่าวจะสามารถสร้างภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยให้ทั่วโลกทราบว่าประเทศไทยสามารถผลิตได้ครบวงจรและสนองต่อความต้องการลูกค้าได้ครบถ้วน โดยงานจัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ถึง 21 พฤศจิกายน 2557 ณ ห้องแกลอรี่ 2 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center - TCDC) มีผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 1,500 คน สำหรับผู้ประกอบการ และนักออกแบบ ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฝ่ายพัฒนาพื้นฐานธุรกิจ มธ.ศูนย์รังสิต คลองหลวง ปทุมธานี โทรศัพท์ 02-564-4000 ต่อ 2012,2015, 082-450-2626, 082-450-2623 ติดต่อคุณสุกัญญา หรือ คุณพนิดา หรือสอบถามที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ฝ่ายข้อมูลสิ่งทอ ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2713 5492 – 9 ต่อ 740, 790, 732 ติดต่อ คุณทรรศนีย์ คุณรัฐพล คุณณัฐวดี หรือเข้าไปที่ เว็บไซต์ www.thaitextile.org//ffn2014
นายประดิษฐ์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากก่อให้เกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้เข้าประเทศต่อปีจำนวนมาก โดยเฉพาะผ้าผืน ที่มีมูลค่าการส่งออกกว่า 1,118.62 ล้านเหรียญสหรัฐ (ม.ค. – ก.ย. 57) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.60 ของตลาดส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทย โดยตลาดส่งออกผ้าผืนหลักของไทย ได้แก่ จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้มูลค่าการส่งออกผ้าผืนของไทยจะมีมูลค่าสูง แต่หากในระดับโลกแล้ว ในปี 2556 ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดเพียงร้อยละ 1.42 เท่านั้น (ที่มา :สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และ Trade Map, 2013) ซึ่งผ้าผืนของไทยที่ส่งออกมักนำไปใช้ผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปที่คุณภาพไม่สูง อีกทั้งความต้องการใช้ผ้าผืนเพื่อการผลิตและแปรรูปเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นภายในประเทศกลับยังไม่มากเท่าที่ควร ขณะที่ปัจจุบันมีแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นใหม่ๆ จากดีไซเนอร์ฝีมือดีในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อุตสาหกรรมผ้าผืนของไทยกลับไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของดีไซเนอร์ได้ ผ้าผืนไทยจึงมักไม่ถูกเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของเสื้อผ้าแฟชั่นจากแบรนด์ชั้นนำ ทั้งนี้ ผ้าผืนไทยยังคงประสบปัญหาในหลายด้าน ตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตผ้าผืนในไทยยังคงผลิตตามความต้องการของตนเองเป็นหลัก มิได้คำนึงถึงเทรนด์แฟชั่น หรือความต้องการของตลาด อีกทั้งเส้นใยในการผลิตผ้าผืนมีความหลากหลายน้อย ขาดการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมต้นน้ำถึงปลายน้ำยังไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร และการทำตลาดเชิงรุกยังไม่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้ดีไซเนอร์ส่วนใหญ่จึงเลือกนำเข้าผ้าจากต่างประเทศที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการตามเทรนด์ได้มาใช้ในการผลิตสินค้าแฟชั่นมากกว่า
นายประดิษฐ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการผ้าผืนของไทย สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงการพัฒนาและวิจัยเพื่อการเพิ่มมูลค่าและยกระดับสิ่งทอไทย สู่เป้าหมายประเทศชั้นนำของโลกด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอครบวงจร จึงเดินหน้าพัฒนาโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อให้บุคลากรในอุตสาหกรรมแฟชั่นมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของแนวโน้มแฟชั่น (Fashion Trend) และสามารถประยุกต์ในการผลิตสินค้าแฟชั่นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของรูปแบบแฟชั่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าผืนจะได้รับการคัดเลือกโดยใช้เกณฑ์ด้านความพร้อมของบุคลากร ประสบการณ์ในการทำการตลาด ความพร้อมด้านงบประมาณด้านการพัฒนาและการตลาด 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1. การเผยแพร่ผ้าผืน Highlight ไปยังกลุ่มเป้าหมาย 2,000 คนผ่าน E-bulletin 2. นำเสนอและเจรจากับลูกค้าเครือข่ายธุรกิจ 4 กลุ่ม ได้แก่ การออกแบบและใช้เทคโนโลยีการพิมพ์แบบใหม่ เสื้อผ้าสำหรับสุภาพบุรุษ สตรี และชุดกีฬา 3. ร่วมประชุมความร่วมมือกับผู้ประกอบการแบรนด์แฟชั่นขนาดใหญ่ 4. ร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) กับผู้บริหารแบรนด์แฟชั่น ผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่ม และผู้เชี่ยวชาญ และ 5. พัฒนาผ้าผืนให้สอดคล้องกับเทรนด์ Autumn 2015 และ Winter 2016
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ผ่านการเข้าร่วมทุกขั้นตอนของโครงการฯ จะได้รับโอกาสในการนำผ้าผืนที่ได้รับการพัฒนาแล้วมาจัดแสดงในงาน แฟชั่น แฟบริค เน็ตเวิร์ก 2014 (Fashion Fabric Network 2014) งานแสดงผ้าผืนแฟชั่นและเจรจาธุรกิจ ปี 2557 ซึ่งเป็นการจัดแสดงผ้าผืนครั้งแรกในประเทศไทย ที่สถาบันฯสิ่งทอ กับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED)ร่วมกันจัดขึ้น โดยได้แรงบันดาลใจจากงานพรีเมียร์ วิช๊อง (Premiere Vision) ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นงานแสดงผ้าผืนระดับโลก โดยมุ่งหวังที่จะสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ระหว่างผู้ผลิตผ้าผืน ผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่ม และแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่น ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยให้ทั่วโลกทราบว่าประเทศไทยสามารถผลิตได้ครบวงจรและสนองต่อความต้องการลูกค้าได้ครบถ้วนทั้งด้านการผลิต การออกแบบและการบริการ นอกจากนี้ ยังสามารถลดการพึ่งพาวัตถุดิบผ้าผืนที่ทันสมัยจากต่างประเทศ โดยการสร้างมาตรฐานและมูลค่าเพิ่มให้แก่ผ้าผืนไทยเพื่อตอบโจทย์เทรนด์ในตลาดโลก ตั้งเป้ายกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่ศูนย์รวมการออกแบบแฟชั่นของอาเซียน สำหรับกิจกรรมภายในงานจะประกอบไปด้วย 4 ส่วนหลัก ได้แก่
1. Fabric Exhibition : ส่วนแสดงผ้าผืนคอลเลคชั่นใหม่สำหรับ เสื้อผ้าธุรกิจ เสื้อผ้าธุรกิจ ลำลอง ยีนส์ เดรส และดิจิทัลพริ้นท์ จาก 50 ผู้ประกอบการ ผ่านการคัดเลือกจากโครงการดังกล่าวแล้ว
2. Trend Forum : ชมนิทรรศการการออกแบบผ้าผืนสำหรับฤดูกาล Autumn / Winter 2015/16 ภายใต้แนวคิด แรงบันดาลใจที่จับต้องได้
3. Trend Seminar : งานสัมมนาเทรนด์ผ้าผืนและการปรับใช้ในสินค้าแฟชั่น SS2015 และ AW2015/16 โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการคัดสรรผ้าผืนให้เหมาะกับเทรนด์ต่างๆ
4. Business Networking : การเจรจาธุรกิจเฉพาะกลุ่ม ตามประเภทของสินค้าแฟชั่น อาทิ New Printing Technology, Menswear Fabric, Active Sport Technology
นายประดิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเทรนด์สิ่งทอ Autumn 2015/ Winter 2016 ที่กำลังได้รับความสนใจของดีไซเนอร์ทั่วโลกนั้น มีลักษณะพิเศษที่รูปลักษณ์ที่เห็นกับลักษณะการสัมผัสอาจขัดแย้งกันสิ้นเชิง เช่น ผ้าที่มีลักษณะคล้ายโลหะ แต่เมื่อสัมผัสกลับมีความอ่อนนุ่ม และน้ำหนักเบามาก รวมไปถึงผ้าที่มีการใช้วัสดุเทคโนโลยีขั้นสูงผลิตให้มีลักษณะเป็นงานฝีมือ หรือผ้าลายทอโบราณที่ตกแต่งด้วยลวดลายสลับซ้อนหลายชั้นจนดูหนาแต่กลับมีน้ำหนักเบา หรือผ้าที่คุณสมบัติด้านเทคนิคซ่อนอยู่สามารถสร้างความรู้สึกร่วมของการสัมผัสและการเห็น เช่น ผ้าขนสัตว์ ที่มีความละเอียดเนียนนุ่ม ใส่สบาย มีความเงางาม หากแต่แฝงไปด้วยความหรูหรา ทั้งนี้ โทนสีที่นิยมในฤดูกาลนี้ ได้แก่ คลาสสิค (Classic) ซึ่งมักเป็นกลุ่มโทนสี นู้ด (Nude) และ เอิร์ธโทน (Earth Tone) เช่น สีน้ำตาล สีเทา อย่างไรก็ตาม การออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าแฟชั่นสำเร็จรูปจำเป็นต้องคำนึงถึงคือเทรนด์แฟชั่นในฤดูกาลถัดไป ดังนั้น ผู้ผลิตผ้าผืนจะต้องปรับตัวให้ทันกับกระแสแฟชั่นด้วยการผลิตผ้าผืนซึ่งเป็นวัตถุดิบของเสื้อผ้าแฟชั่นให้สอดคล้องกับเทรนด์แฟชั่นด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี กิจกรรมดังกล่าวยังได้รับความร่วมมือจากดีไซเนอร์แบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำของเมืองไทยมาเลือกซื้อเพื่อนำไปออกแบบและผลิตเสื้อผ้าภายใต้แบรนด์นั้นๆ อาทิ ดีเอพีพี (DA+PP) เกรย์ฮาว (Greyhound) ดิษยา (Disaya) โคลเซ็ท (Kloset) อิชชู(Issue) รวมทั้งแบรนด์ต่างชาติที่เป็นที่นิยมในประเทศ อาทิ ยัสปาล (Jaspal) บลู คอนเนอร์ (Blue Corner) และเอฟ แอนด์ เอฟ(F&F) เป็นต้น ซึ่งหากโครงการนี้ได้รับการตอบรับจากแบรนด์เสื้อผ้าของไทยด้วยดี คาดว่ามีโอกาสขยายกลุ่มเป้าหมายจากสินค้าระดับสตรีทมาร์เก็ต (Street Market) และไฮสตรีทมาร์เก็ต (High Street Market) ไปสู่ระดับสู่ระดับบน (High End Market) ได้ในอนาคต ทั้งนี้ งาน แฟชั่น แฟบริค เน็ตเวิร์ก 2014 จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ถึง 21 พฤศจิกายน 2557 ณ ห้องแกลอรี่ 2 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center - TCDC) คาดว่าจะมีดีไซเนอร์ นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจงานด้านแฟชั่น เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 1,500 คน นายประดิษฐ์ กล่าวสรุป
สำหรับผู้ประกอบการ และนักออกแบบ ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฝ่ายพัฒนาพื้นฐานธุรกิจ มธ.ศูนย์รังสิต คลองหลวง ปทุมธานี โทรศัพท์ 02-564-4000 ต่อ 2012,2015, 082-450-2626, 082-450-2623 ติดต่อคุณสุกัญญา หรือ คุณพนิดา หรือสอบถามที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ฝ่ายข้อมูลสิ่งทอ ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2713 5492 – 9 ต่อ 740, 790, 732 ติดต่อ คุณทรรศนีย์ คุณรัฐพล คุณณัฐวดี หรือเข้าไปที่ เว็บไซต์ www.thaitextile.org//ffn2014