กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
นายวิเวก ดาวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอนซ์ จำกัด (มหาชน) แบ่งปันประสบการณ์กว่าสิบปีในการทำธุรกิจในทวีปแอฟริกาในงานอาเซียน บิสเนส ฟอรั่ม 2014 ซึ่งจัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ “อาเซียน และประเทศอื่นๆของโลก”
นายวิเวก ดาวัน พร้อมด้วยนาย เรมอนด์ ยู บราวน์ อัครราชทูตไนจีเรียประจำประเทศไทย นายอนุภาม สรนวาลา ประธานกรรมการฝ่ายวิจัยและพัฒนาบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศอินเดีย และผู้นำเสวนาคือ นาย จาติน แพ็นท์ หุ้นส่วนบริษัทแมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี ร่วมเสวนาบนเวที เรื่อง ความเสี่ยงและผลประโยชน์ของการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ในแอฟริกาและอินเดีย
นายวิเวก ในฐานะตัวแทนจากบริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอนซ์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทไทยเพียงไม่กี่รายที่มีการประกอบธุรกิจอยู่ในทวีปแอฟริกาถึง 8 ตลาด ตั้งแต่พ.ศ. 2543 เชิญชวนให้นักลงทุนอาเซียนหันไปให้ความสนใจลงทุนในทวีปแอฟริกาเพราะมีโอกาสในการเติบโตสูง พร้อมให้คำแนะนำในด้านความเสี่ยงในการลงทุน โดยกล่าวว่า “ในแอฟริกามีโอกาสทางธุจกิจอยู่มากมาย แต่แน่นอนว่าโอกาสย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงและการแข่งขัน บริษัทควรทำธุรกิจในแอฟริกาแบบระยะยาว โดยการเริ่มจากธุรกิจขนาดเล็กก่อนแล้วจึงขยาย มีการจ้างงานคนในพื้นที่ และควรเลือกตลาดในการทำธุรกิจอย่างระมัดระวัง” ปัจจุบันบริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอนซ์ จำกัด (มหาชน) มีตัวแทนอยู่ในประเทศกาน่า เคนย่า ไนจีเรีย รวานด้า ทานซาเนีย และยูกันดา โดยมีแผนขยายไปยังเอธิโอเปีย และซูดาน
มุมมองของนายวิเวกเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับนาย เรมอนด์ ยู บราวน์ อัครราชทูตไนจีเรียซึ่งกล่าวว่า ถึงแม้ปัจจุบันการลงทุนในด้านโครงสร้าง ความมีเสถียรภาพทางการเมือง และความพร้อมในการทำงานของประชากรรุ่นใหม่ในแอฟริกาจะทำให้แอฟริกามีความพร้อมสำหรับการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติ อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อสัมพันธภาพที่แข็งแกร่งระหว่างแอฟริกาและเอเชีย นาย เรมอนด์ ยู บราวน์ กล่าวว่า “ปัจจุบันมีสถานทูตไทยในทวีปแอฟริกาอยู่เพียง 5 แห่งเท่านั้นที่ปฏิบัติงานครอบคลุมทั้ง 54 ประเทศในทวีปนี้ ความร่วมมือไทย-แอฟริกานั้นเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญเพื่อลดช่องว่างของข่าวสารระหว่างทั้งสองทวีป แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่ยังสามารถทำได้เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนระหว่างอาเซียนและแอฟริกา” นอกเหนือจากคำแนะนำในข้างต้นแล้ว ยังมีเรื่องข้อกำหนดทางกฎหมายที่ควรทำให้ชัดเจน ทั้งเรื่องการคุ้มครองผู้ลงทุน ข้อตกลงทางการค้า และการเจรจาทางการค้า
คำแนะนำของนายวิเวกเป็นการแบ่งปันมุมมองในฐานะตัวแทนจากภาคธุรกิจต่อการที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะสามารถส่งเสริมให้มีการลงทุนระหว่างภูมิภาคได้ โดยเน้นด้านความสะดวกในการเคลื่อนย้ายกำลังคน ความสอดคล้องในการออกกฎหมายการจดสิทธิบัตรยา และความโปร่งใสในการออกกฎหมาย ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการส่งเสริมการค้าระหว่างภูมิภาค นอกจากนี้ นายวิเวกยังกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ พิจารณาการขยายธุรกิจไปยังแอฟริกาโดยมีแนวคิดว่าบริษัทสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อส่งเสริมให้ตลาดเหล่านี้เติบโตขึ้น มากกว่าการคำนึงถึงผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว ทั้งยังกล่าวถึงความพยายามของมูลนิธิ Mega We Care Wellness Foundation ที่บริจาคร้อยละ 2 ของผลกำไร เพื่อการสร้างสรรค์คุณค่าร่วมกันให้กับสังคม (Creating Shared Value) ไปยังทุกที่ที่เมก้าเข้าไปทำตลาด รวมถึงตลาดในทวีปแอฟริกาด้วย นายวิเวกกล่าวทิ้งท้ายว่า “แอฟริกาคืออนาคต”
จากภาพแรก: (จากซ้าย) อนุภาม สรนวาลา ประธานกรรมการฝ่ายวิจัยและพัฒนาบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศอินเดีย . วิเวก ดาวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอนซ์ จำกัด (มหาชน), วิศิษฐ์ ตันติสุนทร ประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย , เรมอนด์ ยู บราวน์ อัครราชทูตไนจีเรียประจำประเทศไทย และ จาติน แพ็นท์ หุ้นส่วนบริษัทแมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี
จากภาพที่2: วิเวก ดาวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอนซ์ จำกัด (มหาชน) (ที่ 4 จากซ้าย) กลินท์ สารสิน กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย (ที่ 5 จากซ้าย); เรมอนด์ ยู บราวน์ อัครราชทูตไนจีเรียประจำประเทศไทย (ที่ 7 จากซ้าย); จาติน แพ็นท์ หุ้นส่วนบริษัทแมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี(ที่ 6 จากซ้าย); อนุภาม สรนวาลา ประธานกรรมการฝ่ายวิจัยและพัฒนาบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศอินเดีย (ที่ 3 จากซ้าย); วรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย(ที่ 8 จากซ้าย); กฤษณะ บุญญาชัย กรรมการบริหารฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (ซ้ายสุด); และ พรกนก วิภูษณวรรณ" ผู้อำนวยการศูนย์การสร้างความสามารถทางการแข่งขัน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (ที่ 2 จากซ้าย)