กรุงเทพ--29 ต.ค.--วีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล
เมื่อเร็วๆ นี้ วีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล ประกาศใช้ข้อกำหนด (Specification) แพลทฟอร์มระบบเปิดรุ่น 1.0 สำหรับบัตรเอนกประสงค์ที่ใช้เทคโนโลยีจาวาการ์ด ข้อกำหนดดังกล่าวช่วยให้บัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรเติมมูลค่าและแอพพลิเคชั่นอื่นๆ สามารถทำงานด้วยไมโครชิพ ซึ่งนำไปสู่การวางมาตรฐานของอุตสาหกรรมบริการบัตรชำระเงิน ตลอดจนผู้ถือบัตรซึ่งออกโดยสถาบันการเงินสมาชิกของวีซ่ายังสามารถเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นเอกลักษณ์และเลือกประเภทให้เหมาะกับความต้องการของตนอีกด้วย
ทั้งนี้ การนำจาวาการ์ดรุ่น 2.0 และข้อกำหนดแพลทฟอร์มระบบเปิดของวีซ่ารุ่น 1.0 มาใช้เพื่อเป็นการวางมาตรฐานอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีชิพการ์ด โดยมีเป้าหมายให้ระบบการชำระเงินมีความปลอดภัยและใช้งานได้ตามความต้องการ นับจากปลายปี 2539 หลังการประกาศใช้เทคโนโลยีระบบเปิดดังกล่าว จาวาการ์ดได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถาบันการเงินชั้นนำ สมาคมด้านการชำระเงิน ผู้ผลิตชิพ และผู้ผลิตบัตร
ข้อกำหนดแพลทฟอร์มระบบเปิดรุ่น 1.0 เป็นองค์ประกอบสำคัญของพาร์ทเนอร์โปรแกรมของวีซ่า ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พาร์ทเนอร์โปรแกรมประกอบด้วยกลุ่มของแอพพลิ-เคชั่นต่างๆ, แพลทฟอร์มเทคโนโลยีระบบเปิด, กระบวนการและเครื่องมือที่เสริมการทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย, กฎเกณฑ์และมาตรฐานพื้นฐาน, ระบบการย้ายข้อมูลของบัตรเดบิตหรือเครดิตไปบนชิพ และการเพิ่มหน้าที่อื่นๆ ให้กับบัตรชำระเงิน
การนำมาตรฐานของจาวาการ์ดมาปรับใช้กับข้อกำหนดแพลทฟอร์มระบบเปิดของวีซ่า ช่วยให้ร้านค้าสามารถเสนอบริการแตกต่างจากผู้อื่นในตลาด ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตบัตรชั้นนำ ได้แก่ บูล, เดอ ลา รูย์, เก็มพลัส, ไอบีเอ็ม, โมโตโรลา สมาร์ทการ์ด, ชลัมเบเจอร์ และโตชิบา ยังมอบความไว้วางใจแก่วีซ่าเรื่องการนำข้อกำหนดแพลทฟอร์มระบบเปิดมาประยุกต์ใช้งาน โดยกลุ่มผู้ผลิตบัตรดังกล่าวจะสามารถส่งมอบบัตรให้สถาบันการเงินสมาชิกวีซ่านำไปให้บริการแก่ลูกค้าได้ตั้งแต่ต้นปี 2541
วีซ่านำเทคโนโลยีจาวาการ์ดไปใช้กับบัตรเครดิตและเดบิต โดยย้ายข้อมูลจากแถบแม่เหล็กสู่ชิพ และบัตรวีซ่าแคช ซึ่งผู้ถือบัตรสามารถเติมมูลค่าเงินได้ทั่วโลก เพื่อนำไปซื้อสินค้าหรือใช้จ่ายประจำวันที่มูลค่าไม่สูงนัก เช่น ค่าโดยสารรถไฟใต้ดิน ค่าโทรศัพท์ อาหารว่างจากเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ นอกจากนี้ สมาชิกจะสามารถพัฒนาและนำแอพพลิเคชั่นนี้ไปใช้ประโยชน์อื่นในบัตรเดียวกับบัตรวีซ่าได้หลายรูปแบบ เช่น โปรแกรมสะสมคะแนน (อาทิ คะแนนสะสมไมล์ของสายการบิน), อิเลคทรอนิคส์แบงก์กิ้ง, การให้บริการอำนวยความสะดวกอื่นๆ และรายการที่จัดขึ้นเพื่อเฉพาะสำหรับลูกค้าผู้ถือบัตร
ปัจจุบัน วีซ่าทำงานร่วมกับผู้ผลิตชิพชั้นนำเพื่อนำเทคโนโลยีจาวาการ์ดไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในด้านราคา ความสามารถในการทำงานและความปลอดภัย และยังช่วยให้ผู้ที่นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้สามารถเสนอนวัตกรรมและความเป็นผู้นำด้านการบริการแก่ลูกค้าอีกด้วย
มร. ฟรองซัวร์ ดูเทร์ รองประธานบริหารแห่งวีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “การใช้ข้อกำหนดแพลทฟอร์มระบบเปิดรุ่น 1.0 ของวีซ่าในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมการชำระเงิน หัวใจสำคัญที่ช่วยให้ชิพการ์ดเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางคือเทคโนโลยีระบบเปิดที่สามารถใช้ได้กับระบบอื่นโดยทั่วไป ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งวีซ่ามีความภูมิใจ ในการวางมาตรฐานอุตสาหกรรมดังกล่าว นอกจากนี้ เราสามารถผลักดันให้เทคโนโลยีสมาร์ทการ์ดสู่นวัตกรรมใหม่และมั่นใจว่าจะเห็นผลอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยการร่วมงานกับสถาบันการเงิน และธุรกิจอื่นๆ”้ วีซ่าเป็นระบบการชำระเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลกหรือ “วิธีการชำระเงินที่ดีที่สุดในโลก” โดยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาอำนวยประโยชน์ให้แก่สมาชิกที่เป็นสถาบันการเงินจำนวน 21,000 แห่ง รวมทั้งหน่วยงานธุรกิจ ภาครัฐ รวมไปถึงการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของโลก วีซ่าเป็นผู้นำด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ อาทิ บัตรชิพโปรแกรม 65 โครงการทั่วโลก รวมทั้งโครงการวีซ่าแคช 7 ล้านใบ และวีซ่าเป็นผู้บุกเบิกระบบการทำธุรกรรมอิเล็คทรอนิคส์อย่างปลอดภัย หรือ Secure Electronic Transaction — SET ใน 25 ประเทศเพื่อการทำธุรกรรมการค้าอย่างปลอดภัยบนอินเตอร์เน็ต บัตรวีซ่ากว่า 600 ล้านใบได้รับการยอมรับจากร้านค้าจำนวนกว่า 14 ล้านแห่งทั่วโลก โดยมียอดรายได้คิดเป็นมูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี นอกจากนี้ วีซ่าเป็นผู้ดำเนินเครือข่ายเอทีเอ็มที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยจำนวนเครื่องเอทีเอ็มกว่า 370,000 เครื่อง
วีซ่ามีข้อมูลโฮมเพจในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต คือ http://www.visa.com
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อกาญจนาวดี น้อยใจบุญ โทรศัพท์ 252-9871-7อินเตอร์เน็ต N_Kanchanawadee@bm.com-- จบ