กรุงเทพ--20 มิ.ย.--กทพ.
ตามที่สื่อมวลชนต่างๆ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการระบบรถเมล์รางในพื้นที่ตามแนวเขตทางพิเศษ หรือรถเมล์รางใต้ทางด่วนสายอนุสาวรีย์ชัย-บางซื่อ-แจ้งวัฒนะในแง่มุมต่างๆ มาโดยตลอดนั้น
เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จึงใคร่ขอเพิ่มเติมข้อมูลในประเด็นต่างๆ ดังนี้
ข่าวหนังสือพิมพ์
1. มติของที่ประชุมคณะอนุกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าลงทุนในโครงการระบบรถเมล์รางใต้ ทางด่วนสายอนุสาวรีย์ชัยฯ-แจ้งวัฒนะ ได้มีมติที่จะล้มเลิกโครงการดังกล่าวแล้ว เนื่องจาก กทพ.ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขของ BECL
ข้อเท็จจริง
1. คณะอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกที่ปรึกษาเพื่อประเมินข้อเสนอและให้ข้อเสนอแนะในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมทุนโครงการระบบรถเมล์รางในพื้นที่ตามแนวเขตทางพิเศษสายอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-บางซื่อ-แจ้งวัฒนะ ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 6/2540 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2540 ยกเลิกการพิจารณาให้ BECL เป็นผู้ลงทุนโครงการระบบรถเมล์รางฯ เนื่องจาก BECL ยืนยันที่จะดำเนินโครงการตามข้อเสนอที่ได้ยื่นต่อกทพ.เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2539 ซึ่งเป็นเงื่อนไขและประเด็นการเจรจาต่อรองที่คณะอนุกรรมการฯ ไม่สามารถยอมรับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขที่ BECL ต้องการให้กทพ.จ่ายค่าชดเชยให้บริษัทฯ เป็นรายกรณีโครงการโฮปเวลล์เปิดดำเนินการก่อนปี 2547 และการให้กทพ.รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อให้รถเมล์รางผ่านทางแยกได้ในเวลาที่ไม่เกิน 1 นาที ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือควบคุมของกทพ. แต่คณะอนุกรรมการฯ ไม่ได้มีมติที่จะล้มเลิกโครงการดังกล่าว
ข่าวหนังสือพิมพ์
2. BECL ขอให้ กทพ.จัดการเรื่องการจราจรโดยไม่ไห้รถเมล์รางหยุดรถสัญญาณไฟแดงนานเกิน 1 นาที กทพ.เห็นว่าในความเป็นจริงแล้วเป็นไปไม่ได้
ข้อเท็จจริง
2. BECL ต้องการให้ กทพ.รับผิดชอบดำเนินการให้รถเมล์รางหยุดรอสัญญาณที่ทางแยกไม่เกิน 1 นาที ด้วยค่าใช้จ่ายของกทพ. ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ต่อรองว่า กทพ.จะช่วยอำนวยความสะดวกและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานโครงการระบบรถเมล์รางสามารถผ่านทางแยกไปได้ในเวลาน้อยที่สุด รวมทั้งการจัดทำเส้นทแยงเหลืองห้ามหยุดรอ (Yellow Boxes) บริเวณทางแยกต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินรถเมล์ราง แต่ BECL ยังยืนยันให้ กทพ.ดำเนิน การที่จะให้รถเมล์รางผ่านทางแยกได้ไม่เกิน 1 นาที ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ไม่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากกทพ.ไม่มีอำนาจในการจัดการจราจรบนถนน
ข่าวหนังสือพิมพ์
3. BECL ได้ให้กทพ.เจรจากับบริษัทโฮปเวลล์ ให้เปิดริการหลังปี 2547 เพื่อไม่ให้เป็นตัวแข่งขันกับรถเมล์รางที่ตนลงทุนไป ซึ่งกรณีดังกล่าว กทพ.ไม่มีอำนาจที่จะไปดำเนินการตามที่ BECL ขอมาได้
ข้อเท็จจริง
3. BECL ต้องการให้ กทพ.จ่ายค่าชดเชยหากโครงการโฮปเวลล์เปิดดำเนินการก่อนปี 2547 โดยยืนยันจะรับรายได้ไม่น้อยกว่ารายได้ตามข้อเสนอ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ไม่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากโครงการโฮปเวลล์ช่วงยมราช-ดอนเมือง และช่วงดอนเมือง-รังสิต ได้มีการลงนามในสัญญาสัมปทานและสัญญามีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2534 อีกทั้งจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2540 เห็นชอบหลักการในการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ในช่วงหัวลำโพง-รังสิต จะต้องเปิดดำเนินการในปี 2541 หากกทพ.ยอมรับเงื่อนไขที่บริษัทฯ เสนอ กทพ.ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่บริษัทฯ อย่างแน่นอน
ข่าวหนังสือพิมพ์
4. ในเรื่องของส่วนแบ่งรายได้ ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจาก BECL ได้เสนอส่วนแบ่งรายได้ให้กับกทพ. ว่า หากรถเมล์รางที่นำมาใช้เป็นเครื่องยนต์เบนซิน จะต้องแบ่งราไยด้ 0.5% แต่ถ้าเป็นรถเมล์รางใช้เครื่องยนต์ดีเซลจะต้องเป็น 2% ของรายได้ก่อนหักภาษี ซึ่งกทพ.เห็นว่าเป็นส่วนแบ่งที่ไม่ยุติธรรมจึงไม่สามารถตกลงกันได้
ข้อเท็จจริง
4. เรื่องการแบ่งรายได้ไม่ได้เป็นประเด็นหลักของการเจรจาต่อรองและการไม่ยอมรับเงื่อนไขของ BECL เนื่องจากกทพ.มีความประสงค์ที่จะไม่รับส่วนแบ่งของรายได้จาก BECL เพราะต้องการให้ประชาชนได้รับประโชยน์สูงสุดจากโครงการนี้ โดยเสียค่าโดยสารในอัตราที่เหมาะสม
ข่าวหนังสือพิมพ์
5. สำหรับการดำเนินการที่ผ่านมานั้น BECL ได้มีการออกแบบไปแล้วเป็นเงินงบประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งกทพ.ก็จะต้องชดใช้ในส่วนนี้และได้มีการตั้งงบประมาณไว้แล้ว ซึ่งเป็นงบประมาณปี 2540 และปี 2541 จึงไม่กระทบกับการดำเนินโครงการอื่นแต่อย่างไร ประกอบกับหากมีการดำเนินงานโครงการดังกล่าว โดยหน่วยงานอื่นในเวลาข้างหน้า ก็สามารถใช้แบบของกทพ.ที่ได้มีการออกแบบไว้แล้วได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปเสียค่าออกแบบใหม่
ข้อเท็จจริง
5. การดำเนินการโครงการระบบรถเมล์รางฯ ในช่วงที่ที่ 1 กำหนดให้มูลค่าการลงทุนอยู่ในระดับต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท โดยเป็นค่าออกแบบรายละเอียด ค่าก่อสร้าง ค่าระบบรางและรถเมล์ราง ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้น่าจะยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมายังอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองในข้อเสนอขอลงทุนกับ BECL เท่านั้น BECL ยังไม่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการโครงการฯ สำหรับเรื่องที่กทพ.ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ BECL นั้น ในความเป็นจริงแล้ว กทพ.ไม่มีข้อผูกพันอันใดที่จะต้องชดเชยให้กับ BECL เนื่องจากตามข้อกำหนดในการทำข้อเสนอขอลงทุนโครงการฯ ระบุไว้ว่า "...ข้อ 8.2 กทพ.ขอสงวนสิทธิ์จะดำเนินการวิธีคัดเลือก และเจรจาต่อรองกับผู้ยื่นข้อเสนอหรือยกเลิกการพิจารณาให้เอกชนมาลงทุนโครงการครั้งนี้เสียก็ได้ แล้วแต่จะเห็นสมควร...ข้อ 8.3 การวินิจฉัยชี้ขาดของกทพ.ถือว่าเป็นอันสิ้นสุดและผู้ยื่นข้อเสนอไม่มีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากกทพ.และกทพ.ไม่มีข้อผูกพันใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกครั้งนี้..."
ข่าวหนังสือพิมพ์
6. คำถามว่าทำไมกทพ.ไม่ให้บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เข้ามายื่นประมูลช้ากว่าการปิดการประมูลไม่นานนนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่าบริษัทดังกล่าวผิดข้อกำหนด TOR เนื่องจากยื่นเข้ามาช้าไปกว่า 1 วัน จึงเห็นว่าน่าจะล้มเลิกโครงการไปเลยดีกว่า
ข้อเท็จจริง
6. ในความเป็นจริงแล้ว บริษัท ธนบรีประกอบรถยนต์ จำกัด ไม่ได้มายื่นข้อเสนอช้าไป 1 วัน แต่ยื่นเสนอข้อมูลไม่ครบถ้วนตามข้อกำหนด ภายในกำหนดเวลา 16.30 น. อีกประการหนึ่งคณะอนุกรรมการฯ ไม่ได้มีมติล้มเลิกโครงการตามที่เป็นข่าว มีมติเพียงแต่ยกเลิกการพิจารณาให้ BECL เป็นผู้ลงทุนโครงการเท่านั้น ส่วนจะดำเนินการโครงการต่อไปด้วยวิธีใดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของคณะกรรมการ กทพ.
ข่าวหนังสือพิมพ์
7. ถ้าโครงการรถเมล์รางสายนี้ กทพ.ไม่สามารถดำเนินการได้ สายอื่นก็คงไม่เข้าไปดำเนินการแล้ว เพราะรถเมล์รางสายอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-แจ้งวัฒนะนี้ ผลการจากการศึกษาเบื้องต้นจะเป็นสายที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุด หากไม่สามารถดำเนินการได้ สายอื่นก็คงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่+วยงานอื่นเข้าไปดำเนินการเอง โดยเฉพาะสายเอกมัย-รามอินทรา จากผลการศึกษาจะมีผู้ใช้บริการน้อยมาก ประกอบกับพื้นที่เป็นของกทม.เอง ก็จะคงจะปล่อยให้ กทม.เข้าไปดำเนินการเอง
ข้อเท็จจริง
7. โครงการระบบรถเมล์รางสายรามอินทรา-เอกมัย กทพ.อยู่ระหว่างประสานงานกับกทม. เพื่อขอทราบแผนดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อประกอบการพิจารณาในรายละเอียดต่อไป แต่ยังมิได้มีข้อยุติว่าจะอนุมัติให้กทม.เป็นผู้ดำเนินการโครงการ--จบ--