เจเนอเรชั่นใหม่ แฟนต้ายุวทูต 20 ปี แห่งการพัฒนาเยาวชนไทย ก้าวไกลสู่สากล

ข่าวทั่วไป Wednesday June 1, 2005 13:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
“ที่นี่คือบันได ให้ก้าวสู่จุดหมาย และสุดท้ายเป็นคนดี ก้าวต่อไป สร้างชื่อไว้ด้วยความดี ด้วยศักดิ์ศรี แฟนต้ายุวทูต” และนี่คือโครงการแฟนต้ายุวทูต ที่ทำให้น้อง ๆ ที่ชนะการประกวดทั้ง 18 คน ก้าวไปสู่จุดหมายที่เป็นความฝันของตนเอง ในการประกวดแฟนต้ายุวทูต ครั้งที่ 12 ประจำปี 2548 ซึ่งจัดโดย บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด, บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน), บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริม สวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ ณ MCC Hall ชั้น 4 ห้างสรรพสินค้า เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน
การประกวดในครั้งนี้มีผู้สมัครกว่า 3,000 คน ทั่วประเทศอายุตั้งแต่ 7-10 ขวบ และคัดเลือกเหลือเพียง 360 คน เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมเข้าค่าย 4 วัน 3 คืน ถือเป็นการพลิกโฉมครั้งสำคัญในรอบ 20 ปี ของแฟนต้ายุวทูต ซึ่งได้จัดให้มีการเข้าค่ายขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้เด็ก ๆ ได้พัฒนาตนเอง ทุก ๆ ด้าน IQ, EQ, MQ และ AQ พร้อมกันนี้โครงการยังเน้นในเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันในสังคมเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นตัวแทนแฟนต้ายุวทูตแห่งประเทศไทย ที่จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนและเรียนรู้วัฒนธรรมกับครอบครัวชาวญี่ปุ่น ในรูปแบบ โฮมสเตย์ และเข้าชมงาน พร้อมแสดง ศิลปวัฒนธรรมไทยในงาน EXPO 2005 ณ เมืองนาโกย่า จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น
พรวุฒิ สารสิน รองประธานกรรมการ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด กล่าวว่า “ ตลอดระยะเวลา 20 ปี ที่ผ่านมา โครงการแฟนต้ายุวทูตได้มีการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานของโครงการอย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ ถือเป็นครั้งแรกของโครงการและเป็นการพลิกโฉมครั้งสำคัญ ในการจัดกิจกรรมเข้าค่าย 4 วัน 3 คืน สำหรับผู้ที่ผ่านรอบคัดเลือกเข้าสู่รอบสอง เด็ก ๆ ไม่เพียงจะได้รับความสนุกสนานและความประทับใจแล้ว ยังได้รับการส่งเสริมและพัฒนาทักษะ ทั้งทาง ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม และ จริยธรรม อีกด้วย การพัฒนาเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของโครงการแฟนต้ายุวทูต ในการพัฒนาเด็กไทยให้มีลักษณะเป็นพลเมืองที่ดี และเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพของชาติ ด้วยการปลูกฝังให้ รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณี รู้จักการแก้ปัญหา และรู้จักการทำงานเป็นกลุ่ม เพื่อส่งเสริมให้พวกเขามีความเป็นผู้นำ กล้าแสดงออก และรู้จักการประยุกต์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับ ไปใช้และเผยแพร่ ทั้งในและต่างประเทศอย่างเหมาะสม ให้สมกับคำกล่าวที่ว่า
แฟนต้ายุวทูต 20 ปี แห่งการพัฒนาเยาวชนไทย ก้าวไกลสู่สากล ”
การตัดสินในรอบสุดท้ายนี้ น้อง ๆ ที่ผ่านเข้ารอบจะต้องเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อสร้างความสัมพันธ์กันในครอบครัวแฟนต้า โดยจุดเด่นของกิจกรรมคือ การทัศนศึกษา เยี่ยมชม “โค้กเวิลด์ ”ณ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด โรงงานรังสิต คลอง 13 ในแบบวอล์ค แรลลี่ โดยน้องๆ จะต้องทำกิจกรรมอยู่ร่วมกับ ผู้ปกครองของครอบครัวอื่น ๆ ในทุกกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นพิธีรับขวัญ, กิจกรรมศิลปะร่วมกับบัดดี้คุณพ่อหรือคุณแม่ของเพื่อนๆ ที่มาร่วมกิจกรรม ทั้งนี้เพื่อน้อง ๆ จะได้ฝึกทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่นก่อนที่น้อง ๆ จะได้ไปใช้ชีวิตแบบโฮมสเตย์ ณ ประเทศญี่ปุ่นต่อไป ส่วนกิจกรรมบนเวที น้อง ๆ จะขึ้นมาแนะนำผลงานที่ได้ไปทำมาร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ ในหัวข้อที่ว่า “ถ้าได้เป็นแฟนต้ายุวทูต จะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง และครอบครัว” เพื่อนำมาเสนอต่อคณะกรรมการ พร้อมกับการพูดคุยโต้ตอบบนเวที ถึงกิจกรรมศิลปะที่ได้ไปร่วมทำกับคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นบัดดี้ โดยเน้นที่บุคลิกภาพ การนำเสนอผลงาน และแสดงความคิดเห็น การพูด ที่แสดงออกได้อย่างเหมาะสมกับวัย นอกจากนี้ยังมีการแสดงความสามารถบนเวทีที่สื่อถึงศิลปวัฒนธรรมไทยอีกด้วย
น้อง ๆ ที่ชนะเลิศได้ตำแหน่งแฟนต้ายุวทูต ทั้ง 18 คน ประจำปี 2548 จะได้รับ ถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ทุนการศึกษา 10,000 บาท พร้อมเดินทางไปทัศนศึกษาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย ในรูปแบบ “โฮมสเตย์ ” และเข้าชมงาน EXPO 2005 ณ เมืองนาโกย่า จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมของรางวัลจากโครงการฯ และ ผู้สนับสนุน สำหรับสถาบันการศึกษาของผู้ชนะการประกวดจะได้รับโล่เกียรติยศจากสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ
และนี่เป็นก้าวสำคัญของน้อง ๆ กับการก้าวไปสู่อนาคตข้างหน้า ทุกอย่างที่ได้ทุ่มเทมาคือความ ภูมิใจของตนเองและครอบครัว และที่สำคัญคือประสบการณ์อันทรง คุณค่าของชีวิต ที่ไม่อาจลืมได้ จากเวที แฟนต้ายุวทูต
รายชื่อผู้ชนะเลิศการประกวด
โครงการแฟนต้ายุวทูตแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12 ประจำปี 2548
กรุงเทพมหานคร
1. ด.ญ.กุสุมา เลาหวีรภาพ (มิว) อายุ 10 ปี โรงเรียนปัญจทรัพย์
2. ด.ญ.ปัณฑารีย์ เจริญไทย (เฌอแตม) อายุ 9 ปี โรงเรียนเพชรถนอม
3. ด.ญ.มณิชา บัณฑิตานุกูล (มีมี่) อายุ 8 ปี โรงเรียนสารสาสน์วิเทศร่มเกล้า
ภาคกลาง
1. ด.ช.จตุพงศ์ รุ่งเรืองนพรัตน์ (ก๋วยเตี๋ยว) อายุ 10 ปี โรงเรียนชัยจิตต์วิทยา จ.กาญจนบุรี
2. ด.ญ.นภสร เอกพันธ์กุล (โบนัส) อายุ 10 ปี โรงเรียนสาธิตคริสเตียนวิทยา จ.นนทบุรี
3. ด.ช.ทัตพงศ์ มาสุข (เป้) อายุ 8 ปี โรงเรียนอนุบาลราชบุรี จ.ราชบุรี
ภาคเหนือ
1. ด.ญ.สุพิชญา รูปสุวรรณ (แอ่นแอ๊น) อายุ 8 ปี โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
จ.เชียงใหม่
2. ด.ช.ณัชพล ทรงยั่งยืนกุล (กอบทอง) อายุ 9 ปี โรงเรียนปิยมิตรวิทยา จ.พะเยา
3. ด.ญ.ครองขวัญ พิมพ์ประเสริฐ(ออมสิน) อายุ 7 ปี โรงเรียนวชิรวิทย์ จ.เชียงใหม่
ภาคใต้
1. ด.ญ.ณัฐกมล สุรชิต (บี) อายุ 8 ปี โรงเรียนกลับเพชรศึกษา จ.สงขลา
2. ด.ช.สิรภพ โกฏิกุล (น็อต) อายุ 10 ปี โรงเรียนเทศบาลคูหาสวรรค์ จ.พัทลุง
3. ด.ญ.ภัทรา วรินทรเวช (แตงโม) อายุ 7 ปี โรงเรียนพระมหาธาตุมูลนิธิมัธยม
จ.นครศรีธรรมราช
ภาคตะวันออก
1. ด.ญ.อรญา ศิริกุลบดี (โอม) อายุ 9 ปี โรงเรียนเซนโยเซฟทิพวัล
จ.สมุทรปราการ
2. ด.ญ.ชนิดา ตั้งชูทวีทรัพย์ (มอส) อายุ 10 ปี โรงเรียนวัดท่าเกวียน (สันอุทิศ)
จ.ฉะเชิงเทรา
3. ด.ญ.พัทธ์ธีรา อิศราประทีปรัตน์ (พิณ) อายุ 8 ปี โรงเรียนอนุบาลชลบุรี จ.ชลบุรี
ภาคอีสาน
1. ด.ญ.ธัญสิริ โตพันธานนท์ (แพร) อายุ 9 ปี โรงเรียนอนุบาลยโสธร จ.ยโสธร
2. ด.ญ.ฐิตตา สุคนธสวัสดิ์ (มะนาว) อายุ 9 ปี โรงเรียนอนุบาลอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ
3. ด.ญ.มนันยา โกศัลวิตร์ (นกยูง) อายุ 7 ปี โรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี
สัมผัสความรู้สึกของผู้ชนะ ทั้ง 18 คน
และผลงานที่จะนำเสนอภายใต้หัวข้อ
“ถ้าได้เป็นแฟนต้ายุวทูต จะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง และครอบครัว”
เด็กหญิงกุสุมา เลาหวิรภาพ มาแสดงในชุดฟ้อนดาบฟ้อนเจิง ที่เผยว่า การแสดงนี้บางคนอาจจะไม่รู้จัก จึงอยากจะเผยแพร่และอนุรักษ์ไว้ต่อไปวันนี้ทุกคนที่เข้ารอบมา ต่างก็หวังที่จะได้เป็น หนูก็แอบหวังลึก ๆ เพราะอยากไปเยี่ยมแดนนักสืบโคนัน พอดีกับว่าหนูได้ตั้งโครงการนักเขียนรุ่นเยาว์ เพื่อจะได้พัฒนาการเขียนของตนเอง โดยจะมีคุณพ่อคุณแม่ เป็นที่ปรึกษา และจะได้สานความสัมพันธ์ในครอบครัวไปด้วย ที่แน่ ๆ น้องมิวต้องขอบคุณโครงการฯ เพราะตั้งแต่เข้ามาประกวด ทำให้เราได้รับการพัฒนาทางด้านการแสดงออก และทำให้มั่นใจมากขึ้น
เด็กชายณัชพล ทรงยั่งยืนกุล ที่มาโชว์ศิลปะการรำไหว้ครู ของการรำดาบ กล่าวว่า ตื่นเต้นจนพูดไม่ถูก โครงการนี้เปลี่ยนแปลงนิสัยผม อย่างพี่เลี้ยงบอกว่าสิ่งนี้ไม่ดี ผมก็ไม่ทำครับ ตอนนี้ผมได้เป็นแฟนต้ายุวทูตแล้ว ผมจะทำโครงการของผมที่ได้นำเสนอไว้ นั่นคือ การกำจัดและแยกขยะ เพื่อให้สังคมสะอาด และครอบครัวของผมก็จะมีรายได้ด้วย
เด็กหญิงภัทรา วรินทรเวช ออกมาร้องเพลงสยามเมืองยิ้มเสียงใสแจ๋ว เผยความรู้สึกที่เลือกการแสดงนี้ว่า ทำให้รู้สึกภูมิใจที่เกิดในเมืองไทย และอยากจะไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย เช่น การไหว้ และรอยยิ้ม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไทย ให้คนอื่นรู้จัก จึงได้นำเสนอแผนงานนี้ โดยทุกคนในครอบครัวก็จะร่วมมือกันเผยแพร่และรักษาวัฒนธรรมนี้
เด็กหญิงธัญสิริ โตพันธานนท์ นำเอกลักษณ์ของภาคอีสานเซิ้งดีดไห ที่บอกว่าจังหวะสนุกสนาน จะได้โชว์ให้ชาวต่างประเทศดูในงาน Expo ด้วย การประกวดครั้งนี้มั่นใจมาก เพราะเราทำได้อย่างเต็มที่ เอาประสบการณ์ที่ได้รับการพัฒนาจากการเข้าค่ายมาใช้บนเวทีได้ด้วย เช่น การตั้งสติ มีสมาธิ จึงได้นำเสนอออกมาเป็นแผนงาน ในหัวข้อ ธรรมมะในครอบครัว ให้ทุกคนในครอบครัวมาฝึกสมาธิ ทำจิตใจให้สบายด้วยกัน
เด็กหญิงณัฐกมล สุรชิต ที่จะมาเชิญชวนทุก ๆ ท่านให้ไปเที่ยวเมืองสงขลา เพราะเมืองสงขลา มีของดีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสวนสนทะเล, ผ้าทอเกาะยอ, เกาะหนู เกาะแมว เป็นต้น ที่แน่ ๆ การประกวดครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตเลย ได้มาเข้าค่ายทำให้เราได้ฝึกทักษะในการกล้าแสดงออก เพราะจะเป็นคนไม่ค่อยพูดกับใคร ตอนนี้ทำให้เรากล้าพูดกับคนมากขึ้นด้วยค่ะ
เด็กหญิงสุพิชญา รูปสุวรรณ ให้สัมภาษณ์ด้วยเสียงเล็กๆตามสไตล์ของเธอว่า “รู้สึกตื่นเต้นมากๆ เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ได้มากรุงเทพฯ กับคุณพ่อคุณแม่ และได้รับรางวัลกลับบ้าน” หลังจากที่หายตื่นเต้นแล้วแอ่นแอ๊นเล่าให้ฟังถึงการได้เข้าประกวดแฟนต้ายุวทูตว่า “ได้รับความกล้าขึ้น ได้ประสบการณ์ด้านการแสดงออกและได้เพื่อนเยอะมาก รวมถึงด้านการพัฒนาสมองที่จะได้คิดอะไรใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นซึ่งถือเป็นการพัฒนาสูงสุดจากการที่ได้เข้าค่ายนี้ โดยทางค่ายให้คิดโครงการขึ้นและโครงการของ แอ่นแอ๊นก็คือการเข้าใจตัวเองมากขึ้น, สร้างโลกใหม่ให้น้องแหวน (น้องสาว) เพื่อให้น้องเลิกติดเกมส์ แต่หันมาสนใจการประดิษฐ์ซึ่งจะช่วยกันประดิษฐ์เครื่องบินแรงถีบมนุษย์” และสำหรับการได้เดินทาง ไปเผยแพร่วัฒนธรรมที่ญี่ปุ่นนั้นแอ่นแอ๊นกล่าวว่า“จะเอาวัฒนธรรมของไทยไปเผยแพร่และจะเอา วัฒนธรรมของเขากลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างแน่นอน”
เด็กหญิงฐิตตา สุคนธสวัสดิ์ กล่าวด้วยน้ำเสียงที่ยังตื่นเต้นไม่หายจากการได้เป็นตัวแทนเยาวชนแฟนต้าที่ได้เดินทางไปญี่ปุ่นว่า “ลุ้นสุดๆ ตื่นเต้นมากๆ ที่ได้มีโอกาสไปญี่ปุ่น แต่สิ่งที่ดีใจที่สุดก็คือ การที่จะได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” มะนาวยังกล่าวต่ออีกว่า “มะนาวประทับใจกับการเข้าค่ายครั้งนี้มาก ที่ค่ายสอนให้มะนาวคิดโครงการต่างๆ ซึ่งโครงการที่ทำก็คือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยการไม่ตัดไม้ทำลายป่า, การทำปุ๋ยชีวภาพ และเรื่องของการไม่เผาหญ้า เพราะจะเป็นการทำลายชั้นบรรยากาศ การเข้าค่ายทำให้ได้เรียนรู้การอยู่ในสังคมกับผู้อื่น และโดยเฉพาะ เรื่องของความกล้าหาญ เพราะก่อนที่จะมาเข้าค่ายเป็นคนขี้กลัวมากแต่ตอนนี้ไม่กลัวอะไร อีกแล้ว” ส่วนการได้ไปญี่ปุ่นนั้นเธอกล่าวว่า “จะได้รู้นวัตกรรมใหม่ๆ เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านนี้โดยเฉพาะที่งานเอ็กซ์โป รวมถึงจะได้รู้วัฒนธรรมของญี่ปุ่นและได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของเรา” โดยในงานนี้เธอจะนำ “เซิ้งดีดไห” ที่เธอถนัดไปแสดงด้วย
เด็กหญิงมณิชา บัณฑิตานุกูล ให้สัมภาษณ์ว่า “ไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไรมาก เพราะเตรียมตัวไว้ตลอด ได้หรือไม่ได้ก็ไม่เป็นไร” มีมี่เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การเข้าค่ายว่า “มีมี่ได้ความรู้จากการเข้าค่าย พี่ๆ ให้ทำกิจกรรมต่างๆ เยอะมาก เช่น ศิลปะ สอนมารยาท โดยเฉพาะที่นี่มีมี่ได้รับความกล้าแสดงออก และสิ่งที่มีมี่คิดในฐานะที่เป็นแฟนต้ายุวทูตก็คือ การทำครอบครัวรักสุขภาพเพื่อให้คุณพ่อและคุณแม่มีสุขภาพที่ดี” ในส่วนของการเป็นตัวแทนเยาวชนไปญี่ปุ่นนั้นมีมี่กล่าวว่า “มีมี่อยากเห็นสิ่งที่ญี่ปุ่นมี และจะเอาวัฒนธรรมของเราไปให้ญี่ปุ่นดู รวมถึงคิดว่าหลังจากที่กลับจากญี่ปุ่นแล้วจะเอาภาษาที่เราได้จากเขามาใช้กับคนญี่ปุ่นที่ได้เจอในเมืองไทยด้วย”
เด็กชายทัตพงศ์ มาสุข กล่าวว่า “ผมมีเพื่อนใหม่ ได้รู้จักสิ่งต่างๆ ที่ไม่เคยรู้และสถานที่ต่างๆ ที่ไม่เคยไป” ซึ่งเป็นสิ่งที่ เป้มือระนาดเอกของการแข่งขันแฟนต้ายุวทูตได้รับจากการเข้าค่าย และยังกล่าวอีกว่า “ได้รับพัฒนาการต่างๆ ทั้งความสามัคคีในกลุ่มเพื่อน และพัฒนาสูงสุดเกี่ยวกับตัวเอง คือได้เห็นใจผู้อื่นมากขึ้น ปรกติจะไม่ค่อยเห็นใจใคร มาอยู่ค่ายทำให้ได้ฝึกและปัจจุบันนี้เป้ทำได้แล้ว” ส่วนในเรื่องของการได้ไปญี่ปุ่น เป้กล่าวว่า “เป้จะไปเผยแพร่ดนตรีไทยให้คนญี่ปุ่นได้รู้จักและจะไปเรียนรู้ วัฒนธรรมของเขาด้วย” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่เป้คิดไว้จากโครงการทั้งหมดของเขาที่ตั้งใจจะเผยแพร่ดนตรีไทยให้เด็กๆได้เรียนรู้โดยเปิดสอนให้ฟรี และตั้งใจที่จะเผยแพร่ดนตรีไทยตั้งแต่วันนี้
เด็กชายจตุพงศ์ ธวัชภักดี กล่าวด้วยสำเนียงหนุ่มสุพรรณว่า “ไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไหร่ ผมทำตัวเองให้สบายๆ ระหว่างรอผลการตัดสิน แต่เมื่อได้รู้ว่าเป็นตัวเองได้ไปญี่ปุ่นผมก็ดีใจมาก” ก๋วยเตี๋ยวยังกล่าวอีกว่า “การได้เข้าค่ายกับแฟนต้าทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่องความสามัคคี การอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งทำให้เกิดโครงการหนึ่งขึ้นมาเพื่อสังคมโดยการรณรงค์เรื่องไข้เลือดออก เพื่อให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญและคิดป้องกัน โดยจะเริ่มต้นจากตัวเองก่อนเป็นอับดับแรก” ก๋วยเตี๋ยวกล่าวเพิ่มเติมว่า “สิ่งที่ได้รับ อีกอย่างหนึ่งก็คือได้พัฒนาบุคลิกภาพของตัวเองเพราะเป็นคนเดินหลังค่อม แต่ตอนนี้เดินหลังตรงขึ้นซึ่งเป็นเรื่องที่ดีของผม” ก๋วยเตี๋ยวยังได้ให้สัมภาษณ์ถึงการจะได้ไปญี่ปุ่นว่า “ผมจะเอาเพลงอีแซวที่ผมใช้ประกวดในวันนี้ไปแสดงให้คนญี่ปุ่นดูและจะไปแต่งให้ยาวกว่านี้ ส่วนสิ่งที่ผมคิดว่าจะได้รับจากการไปญี่ปุ่นในครั้งนี้ก็คือ ผมจะได้ศึกษาวัฒนธรรมของญี่ปุ่น และจะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตมากขึ้น”
เด็กหญิงครองขวัญ พิมพ์ประเสริฐ “รู้สึกดีใจมาก หนูทำได้แล้วอย่างที่หนูฝันไว้ หนูจะฝึกซ้อม การแสดงฟ้อนนพบุรีศรีนครพิงเชียงใหม่ เพื่อไปแสดงให้กับชาวญี่ปุ่นดูเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย โครงการที่หนูตั้งใจจะเป็นเด็กดีให้มากขึ้น ไม่เห็นแก่ตัว และจะใช้เวลากับครอบครัวโดยปลูกผัก และผลไม้ร่วมกัน จากกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านมาทำให้หนูได้พัฒนาตัวเอง ในการอยู่ด้วยตัวเอง รู้จักดูแลตัวเองที่จะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมกับคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนในครอบครัวเดียวกัน และกล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้น”
เด็กหญิงมนันยา โกศัลวิตร์ กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้เป็นแฟนต้ายุวทูตว่า “รู้สึกดีใจมากที่สุด เพราะการได้เป็นแฟนต้ายุวทูตต้องใช้ความสามารถ ความพยายาม ความอดทน และต้องเต็มที่กับสิ่งที่ทำ สำหรับโครงการที่หนูคิดไว้ว่าจะคือ โครงการแบ่งปัน หนูเลือกที่จะแบ่งปันให้กับเด็กกำพร้า เพราะพวกเขาน่าสงสาร เขาไม่มีใครคอยดูแลโดยเริ่มจากเงินที่หนูได้จากการเป็นแฟนต้ายุวทูตหนูก็จะ นำเงินนี้ไปบริจาคให้กับพวกเขาด้วย และกิจกรรมต่างๆ ของแฟนต้าทำให้หนูเป็นเด็กดีขึ้น และสอนให้หนูเป็นคนมีระเบียบ สำหรับการแสดงธิดาหยาดฟ้าในวันนี้ หนูรู้สึกชอบมาก เพราะ หนูชอบเต้น และหนูมีความสุขมากกับกิจกรรมแฟนต้ายุวทูต”
เด็กหญิงนภสร เอกพันธ์กุล กล่าวถึง ความภูมิใจในวันนี้ว่า “หนูรู้สึกดีใจมาก และภูมิใจในตัวเองมากๆ ที่ได้เป็นแฟนต้ายุวทูต เพราะการได้เป็นแฟนต้ายุวทูตเป็นความฝันของหนู หนูอยากเอาชนะตัวเอง ปกติจะเป็นคนขี้อายไม่กล้าแสดงออก แต่เมื่อแม่สมัครให้แล้วหนูก็ลองดู และหนูก็ทำสำเร็จ โครงการที่หนูตั้งใจไว้ว่าจะทำคือ หนูจะจัดนิทรรศการโครงการแฟนต้ายุวทูตในโรงเรียน จะทำเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับจากแฟนต้า ถ้ามีโอกาสหนูอยากให้พี่เลี้ยงของแฟนต้า ไปร่วมจัดกิจกรรมที่โรงเรียนด้วย และนอกจากการแสดงรำซัดชาตรีในวันนี้แล้ว หนูยังสามารถ เล่นเปียโนได้อีกด้วย และจากกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านมา สอนให้หนูรู้จักที่จะช่วยเหลือผู้อื่นมากยิ่งขึ้น ต้องคอยดูแลน้องที่เด็กกว่าเราโดยเฉพาะจากการเข้าค่ายที่ต้องอยู่ด้วยกันหลายวัน”
เด็กหญิงปัณฑารีย์ เจริญไทย กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้เป็นแฟนต้ายุวทูตว่า “รู้สึกดีใจมากที่ทำให้ความฝันเป็นจริง และทำแทนพี่สำเร็จ พี่หนูเขาเคยประกวดแต่ไม่ได้เป็นแฟนต้ายุวทูต แต่วันนี้ หนูทำได้แล้ว โครงการที่หนูจะทำเป็นโครงการเกี่ยวกับปัญหาของเด็กชั้นประถมศึกษาที่ไม่ชอบกลับบ้านหลังเลิกเรียน พวกเขาจะชอบไปอยู่ที่ร้านเกมส์ หนูคิดว่าพ่อแม่น่าจะให้ความรัก และ ความอบอุ่นแก่พวกเขามากขึ้น พวกเขาจะได้ ไม่ต้องไปหาความสุขนอกบ้าน สิ่งที่หนูได้จาก กิจกรรมที่ผ่านมาทำให้หนูได้พัฒนาความประพฤติมากขึ้น ทำให้หนูคิดถึงความรู้สึกคนอื่นมากขึ้น พูดจาสุภาพ และมีวินัยในตัวเองเมื่อหนูไปญี่ปุ่นหนูจะพยายามดูศิลปวัฒนธรรม และความฉลาดของเขาเพื่อนำสิ่งดีๆ มาพัฒนาบ้านเรา และหนูจะไปตีขิมให้พวกเขาดูด้วย เพราะปัจจุบันการตีขิมไม่ค่อยมีคนสนใจ และหาดูได้ยากมากขึ้นค่ะ”
เด็กหญิงชนิดา ตั้งชูทวีทรัพย์ “รำฉุยฉายพราหมณ์ที่มอสแสดงวันนี้ เตรียมตัวมาประมาณ 1 เดือนค่ะ ซึ่งสิ่งที่มอสได้จากการร่วมโครงการแฟนต้ายุวทูตก็คือ ความรู้ในด้านต่างๆ ความสนุก และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น แต่ที่ทำให้ตัวเองเปลี่ยนไปคือรู้จักความสามัคคีมากขึ้น เพราะเมื่อก่อนจะมีการเถียงหรือทะเลาะกับเพื่อนบ้าง หลังจากเข้าค่ายมอสก็พัฒนาตัวเองให้สามัคคีกับเพื่อนมากขึ้น เวลาทำกิจกรรมร่วมกันก็จะประสบความสำเร็จ ส่วนกิจกรรมที่มอสจะเลือกไปแสดงที่ญี่ปุ่นก็คงเป็นการรำฉุยฉายพราหมณ์ เพราะมอสถนัดและคิดว่าเป็นการรำที่สวยงามค่ะ และในฐานะแฟนต้ายุวทูตมอสจะถ่ายทอดพระราชดำรัสของในหลวงที่ว่า “ผู้เกิดก่อนต้องอนุเคราะห์ผู้เกิดหลัง” ให้คนไทยได้รับรู้ และเมื่อปฏิบัติตามก็จะมีแต่คนช่วยเหลือกันทำให้ไม่มีปัญหาสังคมตามมาค่ะ”
เด็กหญิงอรญา ศิริกุลบดี “โครงการแฟนต้ายุวทูตทำให้โอมได้รู้ว่าเพื่อนๆ ทุกคนช่วยกันรักษาวัฒนธรรมไทยของเรา และทำให้โอมได้รู้จักเครื่องดนตรีไทยมากขึ้น ได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของไทย เพราะพี่ๆ สอนการไหว้ที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการไหว้พระสวดมนต์ เมื่อก่อนโอมไม่เคยไหว้พระก่อนนอนเลย แต่พอมาอยู่ในค่าย พี่ๆ สอนให้ไหว้พระก่อนนอนทุกคืน กลับไปโอมก็ยังทำอยู่จนวันนี้ รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดีกับตัวเอง เพราะเราจะมีสมาธิทำให้เราหลับสบาย และในฐานะแฟนต้ายุวทูตโอมอยากรณรงค์ให้คนเลิกสูบบุหรี่ โดยเริ่มจากคนใกล้ตัวก่อน เพราะพ่อโอมก็เคยสูบแต่ตอนนี้เค้าก็เลิกได้แล้ว ส่วนการแสดงนาฏลีลาหุ่นกับคนที่แสดงวันนี้ โอมเตรียมตัวมาประมาณ 1 เดือน และคิดว่าจะนำไปโชว์ที่ญี่ปุ่นด้วยค่ะ”
เด็กหญิงพัทธ์ธีรา อิศราประทีปรัตน์ “เมื่อก่อนพิณเป็นเด็กที่ชอบทำอะไรคนเดียว ไม่ชอบเข้ากลุ่ม เพราะพิณไม่อยากเถียงกับใคร แต่พอมาอยู่ค่ายร่วมกับเพื่อนๆ พิณก็ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับคนอื่น รู้จักการแบ่งปัน การเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี ส่วนโครงการที่พิณจะทำให้สังคมคือ รณรงค์ให้เลิกบุหรี่ค่ะ เพราะคุณพ่อพิณเคยสูบบุหรี่แล้วเค้าก็เลิกเพราะ เค้าบอกว่าถ้าน้องพิณเลิกดูดนิ้วพ่อก็จะเลิกสูบบุหรีด้วยค่ะ และการแสดงชุดวัฒนธรรมชลบุรีที่แสดงวันนี้ พิณฝึกซ้อมแค่ 1 อาทิตย์ เท่านั้น คิดว่ายังไม่ดีเท่าไหร่ ถ้าจะนำไปแสดงที่ญี่ปุ่นจะต้องฝึกซ้อมมากกว่านี้อีกค่ะ”
เด็กชายสิรภพ โกฏิกุล “ผมคิดว่าสิ่งที่ผมได้จากการเข้าร่วมโครงการแฟนต้ายุวทูตก็คือ ความกล้าแสดงออก เพราะปกติผมเป็นคนไม่ค่อยมั่นใจ เวลาพูดหรือทำอะไรต่อหน้าคนเยอะๆ ผมจะสั่น แล้วก็จะพูดตะกุกตะกัก แต่ในการเข้าค่ายผมได้ฝึกความมั่นใจ ความเป็นผู้นำ มีน้ำใจ และสามัคคี รู้สึกว่ามีคนยอมรับเรามากขึ้น ผมก็ดีใจแล้วครับ ส่วนการแสดงนาฏกะที่ผมนำมาแสดงก็เป็นวัฒนธรรมของชาวภาคใต้ คล้ายกับการเชิดหนังตะลุง ซึ่งผมอยากทำโครงการเกี่ยวกับการแสดงนาฏกะต่อต้านยาเสพติด ให้เยาวชนได้ดูเพราะจะได้ความสนุกที่สอดแทรกความรู้ไปด้วย เด็กๆ จะได้ไม่เบื่อ”
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
บริษัทแม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด
โทร. 0-2434-8300 สุจินดา, แสงนภา, ชลธิชา--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ