กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--กสทช.
ณ หอประชุมชั้น 1 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ และนายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ร่วมเป็นประธานการประชุม เรื่อง การหารือแนวทางแก้ไขผลกระทบจากปัญหาการขยายโครงข่ายโทรทัศน์ ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล โดยมีผู้ประกอบกิจการดิจิตอลทีวี 24 ช่อง และผู้ให้บริการโครงข่ายดิจิตอลทีวี(MUX) ทั้ง 4 ราย เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ซึ่งนางสาวสุภิญญา กล่าวถึงบรรยากาศการประชุมครั้งนี้เป็นไปอย่างเข้มข้น ได้มีข้อสรุปร่วมกันว่า สำนักงานจะตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบคุณภาพของโครงข่ายทั้งด้านความครอบคลุมของสัญญาณและด้านคุณภาพ คณะทำงานจะประกอบด้วย ตัวแทนช่องดิจิตอลทีวีที่เป็นผู้จ้างโครงข่าย ตัวแทนโครงข่ายฯ ตลอดจนนักวิชาการด้านวิศวกรรม พร้อมด้วยสำนักงาน กสทช. จะร่วมกันลงพื้นที่ตรวจวัดประสิทธิภาพของโครงข่ายในแต่ละพื้นที่ แล้วร่วมกันประเมินว่าตรงกับข้อมูลแผนการคำนวณ การจัดทำพื้นที่ครอบคลุมสัญญาณและจำนวนครัวเรือนที่ครอบคลุม ที่อาศัยซอฟต์แวร์แบบจำลองการแพร่กระจายคลื่น (simulation) หรือไม่ หากพบว่าไม่ตรง ผู้ให้บริการโครงข่ายต้องมีส่วนรับผิดชอบแก้ไข เยียวยาต่อไป ทั้งนี้ในระหว่างการประชุม นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้เข้าร่วมการประชุมและรับทราบแนวทางการตั้งคณะทำงานเรื่องนี้ต่อไป
นายธวัชชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงข่ายที่ล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน ต้องขอความช่วยเหลือจากโครงข่ายที่พร้อมมากกว่า หรือ คือการให้ MUX ทั้ง 4ราย แก้ปัญหาร่วมกัน ส่วนเรื่องของมาตรการลงโทษทางปกครองกับผู้ให้บริการ MUX นั้น จะเกิดขึ้นหากผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผน ส่วนการเปิดโอกาสให้รายใหม่เข้ามาแข่งขันนั้น จะเป็นทางเลือกสุดท้ายหากผู้ให้บริการ หรือผู้รับใบอนุญาตโครงข่ายรายเดิมไม่สามารถดำเนินการได้
“คลื่นเป็นสิทธิของช่องทีวีที่เป็นผู้ประมูลได้รับใบอนุญาต 15 ปี ส่วนภาครัฐที่เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายฯ เปรียบเหมือนผู้วางรางรถไฟให้คลื่นวิ่ง ถ้ารางไม่พร้อมคนใช้คลื่นก็เสียสิทธิ ทั้ง กสทช. และ ผู้ให้บริการโครงข่ายต้องมีส่วนร่วมแก้ปัญหาและรับผิดชอบ” นางสาวสุภิญญา กล่าว