กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--มาสเตอร์โพลล์
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) เรื่อง สำรวจความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อความขัดแย้งและภูมิคุ้มกันในสังคมไทย กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 623 ชุมชน โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2557
ผลการสำรวจเมื่อสอบถามถึงการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมาพบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่คือร้อยละ ร้อยละ 97.0 ระบุติดตามเป็นประจำอย่างน้อย 1-2 วันต่อสัปดาห์ ในขณะที่ร้อยละ 1.9 ระบุติดตามน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 1.1 ระบุไม่ได้ติดตามเลย
ทั้งนี้เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการทำงานของ คสช.และรัฐบาลที่เกิดขึ้นในขณะนี้นั้น ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 70.9 ยังไม่อยากให้ออกมาคัดค้าน อยากให้เวลารัฐบาลทำงานก่อน อย่างไรก็ตาม เกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 29.1 ระบุว่าเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้
และเมื่อสอบถามต่อไปถึงความมั่นใจหรือไม่ว่าจะไม่เกิดความขัดแย้งรุนแรงบานปลายขึ้นในสังคมไทยอีกครั้งนั้น พบว่า ร้อยละ 62.3 ระบุมั่นใจว่าจะไม่เกิด โดยให้เหตุผลว่า ปัญหาเริ่มคลี่คลายลงแล้ว/เชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาลและ คสช. /รัฐบาลมีความเด็ดขาดชัดเจน/เชื่อใจรัฐบาลชุดนี้/ประชาชนมีความรู้มากขึ้น/มีกฎอัยการศึกอยู่/คนไทยเริ่มเข้าใจกันดีแล้ว เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 37.7 ระบุไม่มั่นใจ เพราะยังไม่เห็นผลงานที่ชัดเจนของรัฐบาล /ยังมีการแบ่งฝ่ายทางการเมือง/กลัวคนที่อยู่เบื้องหลัง/ยังมีคลื่นใต้น้ำ/คสช.มีอำนาจมากเกินไป/ยังมีความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นต้น
สำหรับความคิดเห็นของแกนนำชุมชนกรณีสิ่งที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในสังคมไทยได้อีกนั้น พบว่า ร้อยละ 76.7 ระบุการไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม รองลงมาคือร้อยละ 71.6 ระบุความไม่ไว้วางใจของประชาชนต่อรัฐบาลและ คสช. ร้อยละ 55.4 ระบุการใช้สื่อออนไลน์ในการสร้างความขัดแย้งในกลุ่มประชาชน ร้อยละ 54.4 ระบุการออกมาเคลื่อนไหวปลุกระดมประชาชน ร้อยละ 53.3 ระบุการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน และร้อยละ 52.6 ระบุการกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงสิ่งที่จะเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในสังคมไทยอีกครั้งนั้น พบว่า ร้อยละ 81.9 ระบุความจริงใจของรัฐบาลและ คสช. รองลงมาคือร้อยละ 81.1 ระบุความรักความสามัคคีของคนในชาติ ร้อยละ 77.2 ระบุการเจรจาปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ร้อยละ 68.2 ระบุการคำนึงถึงความเสียหายต่อประเทศชาติ ร้อยละ 64.8 ระบุการเสียสละเพื่อส่วนรวม นอกจากนี้ร้อยละ 64.0 ระบุสิ่งที่จะเป็นภูมิคุ้มกันคือการยึดมั่นในกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 55.7 ระบุการมีสติ รู้จักยับยั้งชั่งใจของทุกฝ่าย ร้อยละ 52.0 ระบุการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และร้อยละ 43.0 ระบุการบริโภคข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้านของประชาชน
ในขณะที่เมื่อสอบถามถึงหน่วยงาน/องค์กรที่คาดหวังในการสร้างความปรองดองของคนในชาตินั้น พบว่า แกนนำชุมชนเกือบร้อยละร้อย คือร้อยละ 97.0 ระบุ คสช. ร้อยละ 92.5 ระบุรัฐบาล ร้อยละ 92.0 ระยุนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 72.5 ระบุสื่อมวลชน นอกจากนี้แกนนำชุมชน ร้อยละ 62.4 ระบุองค์กรอิสระ ร้อยละ 61.3 ระบุนักวิชาการ และร้อยละ 55.2 ระบุนักการเมือง ตามลำดับ
ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณา คือ เมื่อสอบถามความพึงพอใจของแกนนำชุมชนต่อท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีต่อกลุ่มผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านในเวลานี้นั้น พบว่า ร้อยละ 60.7 ระบุพอใจมาก-มากที่สุด ร้อยละ 25.4 ระบุค่อนข้างมาก ร้อยละ 9.3 ระบุค่อนข้างน้อย และร้อยละ 4.6 ระบุน้อย/ไม่พอใจเลย
ประเด็นสำคัญสุดท้ายที่ค้นพบจากการสำรวจในครั้งนี้คือสิ่งที่อยากเห็นและให้เกิดขึ้นในสังคมไทยในปี พ.ศ.2558 ที่จะถึงนี้ พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 84.9 ระบุอยากเห็นรัฐบาลสามารถจัดการกับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในโครงการต่างๆ ได้ ในขณะที่ร้อยละ 83.8 ระบุอยากเห็นคนในชาติมีความรัก ความสามัคคี ปรองดองกันมากขึ้น ร้อยละ 81.4 ระบุอยากเห็นรัฐบาลสามารถบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรทั่วประเทศได้ ร้อยละ 75.4 ระบุอยากเห็นกระบวนการยุติธรรมได้รับการยอมรับมากขึ้น ร้อยละ 73.5 ระบุอยากเห็นรัฐบาลสามารถลดความรุนแรงของปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ลงได้บ้าง นอกจากนี้ ร้อยละ 71.7 ระบุอยากเห็นข้าราชการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ร้อยละ 71.3 ระบุอยากเห็นรัฐบาลและสื่อมวลชนมีความเข้าใจกันมากขึ้น ร้อยละ 66.0 ระบุประชาชนดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น ร้อยละ 59.2 ระบุอยากเห็นการเดินหน้าปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน บรรลุตามเป้าหมาย ตามลำดับ