กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--แกรนท์ ธอนตัน ประเทศไทย
ภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการดำเนินการเพื่อฟื้นคืนความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลที่พร้อมดำเนินงานและคืนความสงบเรียบร้อยให้แก่ประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังจำต้องแบกรับภาระจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกต่อไป แม้ว่าความมีเสถียรภาพของบ้านเมืองจะชนะใจกลุ่มผู้บริหารธุรกิจได้ในช่วงแรก
เอียน แพสโค ประธานกรรมการบริหารของแกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย กล่าวว่า “การขาดเสถียรภาพทางการเมืองตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ได้ทิ้งรอยตำหนิไว้กับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย อีกทั้งการลงทุนนั้นขาดความต่อเนื่อง ปราศจากการดำเนินงานและแผนงานในระยะยาวที่ประสานสอดคล้องกัน นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอการเติบโตยังเป็นแรงกดดันต่อประเทศไทย ที่ยังคงต้องอาศัยภาคการส่งออกสินค้าและบริการ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าถึงร้อยละ 74 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2556 ที่ผ่านมา ขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ หรือประมาณร้อยละ 1 จึงผลักดันให้ระดับค่าแรงได้ปรับสูงขึ้นประมาณร้อยละ 50 ในรอบกว่าทศวรรษ และมีแนวโน้มสูงยิ่งขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการผลิตยังไม่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ความสามารถในการแข่งขันของแรงงานไทยจึงลดลง ในขณะที่ภาคธุรกิจก็มีภาระต้นทุนสูงยิ่งขึ้น”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลใหม่ได้มีท่าทีสนับสนุนธุรกิจต่างชาติตั้งแต่ช่วงแรกของการปฏิบัติงาน แต่การที่รัฐบาลมีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวนั้นนำมาซึ่งข้อกังขา เพราะถึงแม้ว่าการปรับปรุงกฎหมายเรื่อง ‘สัดส่วนของผู้ถือหุ้น’ ในธุรกิจต่างด้าวนั้นจะมีเหตุผล แต่ผู้วิพากษ์วิจารณ์สรุปว่ารัฐบาลไม่มีแผนจะปรับปรุงกฎหมายข้ออื่นเพื่อส่งเสริมการลงทุน ในขณะที่ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาปรับเปลี่ยนโดยรวมเพื่อที่จะพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ตลอดจนความสามารถในการผลิต และความน่าดึงดูดในฐานะประเทศที่น่าลงทุน
นอกจากนี้ แม้รัฐบาลได้ประกาศว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะไม่มีผลย้อนหลัง แต่ผู้บริหารธุรกิจต่างชาติยังมีความคลางแคลงใจ พร้อมระบุว่าการเปลี่ยนแปลงในด้านลบที่เกิดขึ้นได้ครั้งหนึ่งแล้วย่อมมีโอกาสในการเกิดขึ้นซ้ำได้อีก ดังนั้น การปรับปรุงกฎหมายในลักษณะ ‘ค่อยเป็นค่อยไป’ นี้ดูเหมือนว่าจะลดทอนความสนใจทั้งของนักลงทุนรายใหม่และชะลอการลงทุนเพิ่มเติมจากนักลงทุนเดิม นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าวยังสวนทางกับคำมั่นสัญญาของประเทศไทยต่อการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนอีกด้วย
ทั้งนี้ รายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน หรือ Grant Thornton’s International Business Report (IBR) พบว่าภายหลังการเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ความเชื่อมั่นของธุรกิจในประเทศไทยในไตรมาสที่ 3 ได้ปรับขึ้นเป็นร้อยละ 71 ในทันทีซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เปรียบเทียบกับร้อยละ 13 ในไตรมาสที่ 2 และร้อยละ -28 เมื่อช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 56 อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจดังกล่าวอาจเป็นเพียงทัศนคติเบื้องต้นที่อาจปรับเปลี่ยนได้ในเวลาไม่นาน
รายงานดังกล่าวยังระบุว่าร้อยละ 49 ของธุรกิจไทยมองเรื่องภาระต้นทุนทางพลังงานที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นยัง เป็นปัญหาทั่วทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 34 สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าธุรกิจมีความวิตกกังวลต่อความเป็นไปได้ในการยกเลิกการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยเป็นการดำเนินงานของรัฐบาลในอดีตเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและรักษาฐานเสียง นอกจากนี้ กว่าครึ่งของผู้บริหารธุรกิจไทยหรือร้อยละ 52 ยังระบุว่ามีความวิตกกังวลต่อการขาดแคลนแรงงานมีทักษะ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคที่มีเพียงร้อยละ 39 โดยเป็นสภาวการณ์ที่ไม่เป็นที่ประหลาดใจในประเทศที่มีอัตราการว่างงานในระดับต่ำมากและมีสัดส่วนประชากรสูงอายุสูงขึ้น แต่ถือเป็นปัจจัยที่น่าวิตกกังวลต่อโอกาสในการเติบโตในระยะยาว
เอียน กล่าวเพิ่มเติมว่า “ประเทศไทยจำเป็นต้องรักษาการขยายตัวของ GDP ในอัตราร้อยละ 4 เพื่อที่จะรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจอย่าง ‘ไม่เป็นบวกหรือลบ’ โดย GDP เมื่อปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ในขณะที่การคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสำหรับปี 2557 โดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นั้นได้รับการปรับลดลงเหลือร้อยละ 1 ส่วนคาดการณ์สำหรับปี 2558 โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อยู่ที่ร้อยละ 4.1 (ซึ่งอยู่ต่ำกว่าการขยายตัวของภูมิภาคอาเซียนที่ร้อยละ 5) และระหว่างปี 2559-61 อยู่ที่ร้อยละ 5.4 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากการที่ตัวเลขเหล่านี้ได้รับการปรับลดลงหลายครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญไทย และการขาดแคลนการดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่องที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ การเติบโตของประเทศไทยจึงน่าจะคงตัวตลอดระยะเวลา 24 เดือนข้างหน้า ในสถานการณ์ที่ดีที่สุด”
โดยบทวิเคราะห์ดังกล่าวอาศัยการสันนิษฐานว่า ประเทศไทยจะมีเสถียรภาพทางการเมืองและมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนยุทธศาสตร์ในระยะยาวที่สอดคล้องประสานกัน ที่ผ่านมา การลงทุนภาคเอกชนนั้นคงระดับเดิมตลอดระยะเวลา 24 เดือน โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3 เมื่อปี 2556 และร้อยละ 0.6 ในปี 2557 ทางด้านหนี้ครัวเรือน (คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 85 ในช่วงสิ้นปี) จะส่งผลกระทบให้การลงทุนลดลง อย่างไรก็ตาม ความมีเสถียรภาพที่สูงขึ้นน่าจะส่งเสริมความเชื่อมั่นในภาคครัวเรือนและนำมาสู่การขยายตัวของการบริโภคในอัตราร้อยละ 3.2 ในปี 2558 และร้อยละ 4.2 ในปี 2559
ส่วนการลงทุนคาดว่าจะหดตัวลงอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในปี 2557 (-2.3%) และจะปรับสูงขึ้นอีกครั้งในปี 2558 เนื่องจากรัฐบาลใหม่มีการเร่งรัดการลงทุนของภาครัฐในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและปรับปรุงการอนุมัติการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณอีกกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมของประเทศไทย
เอียน กล่าวเสริมว่า “นอกเหนือจากความวิตกกังวลทางด้านการเมืองแล้ว ประเทศไทยยังคงมีความวิตกกังวลต่อสถิติประชากรอีกประเด็นหนึ่ง โดยในกลุ่มเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก อัตราการเกิดโดยทั่วไป (1.6) นั้นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอัตราการเกิดแทนที่ (2.1) อย่างมาก ซึ่งจะทำให้อุปทานของแรงงานมีจำนวนลดลง และอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อโอกาสในการขยายตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้น เพื่อรักษาการขยายตัวของเศรษฐกิจไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดก็ตาม ประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับความสามารถในการผลิต ซึ่งเป็นสิ่งที่เรายังไม่ได้เห็น ณ เวลานี้”
นอกจากนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐานยังถือเป็นความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสำหรับปี 2557 และ 2558 และยังได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจอ่อนตัวในยูโรโซน รวมถึงการสิ้นสุดของยุคทองของสินค้าโภคภัณฑ์ในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Markets) สืบเนื่องจากการชะลอตัวในประเทศจีนและสถานการณ์ที่ยากลำบากในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเริ่มเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคอีกด้วย